มาแล้ว Bluetooth 5.2 เชื่อมต่อไว ไร้ดีเลย์ ?
3 ก.ย. 2563
หากพูดถึงการเชื่อมต่อแบบไร้สายระหว่าอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก, หูฟังไร้สาย True Wireless, กล้องถ่ายรูป, ลำโพงพกพา และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ อีกมากมายตามท้องตลาด ต่างก็ใช้การเชื่อมต่อแบบ Bluetooth ด้วยกันทั้งสิ้น ในปัจจุบันนั้น เทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายอย่าง Bluetooth ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากเวอร์ชั่น 5.0 มาเป็น Bluetooth 5.1 และในปัจจุบันนั้น เทคโนโลยีบลูทูธ ได้เดินทางมาจนถึงเวอร์ชั่น 5.2 แล้ว โดยมาตรฐานบลูทูธเวอร์ชั่นใหม่นี้ มีฟีเจอร์รวมไปถึงความสามารถอะไรเพิ่มเข้ามาใหม่บ้าง วันนี้ Mercular.com จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักเวอร์ชั่นใหม่ของเทคโนโลยีนี้ให้มากขึ้นกันครับ
Bluetooth 5.2 คืออะไร ?
มาตรฐานการเชื่อมต่อ Bluetooth 5.2 คือ เทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบไร้สายของอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ ด้วยคลื่นวิทยุระยะสั้น ที่ได้รับการอัพเกรดเวอร์ชั่นจาก Bluetooth 5.1 แต่ความจริงแล้วตอนนี้อุปกรณ์ตามท้องตลาดส่วนใหญ่จะรองรับแค่มาตรฐานบลูทูธ 5.0 เสียมากกว่า เรียกได้ว่า 5.1 ยังไม่ทันเป็นที่แพร่หลาย เวอร์ชั่น 5.2 ก็ออกมาซะแล้ว สาเหตุที่เวอร์ชั่นใหม่ออกมาเร็วเพราะว่าเป็นการประกาศสเปคล่วงหน้าไว้ก่อน เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตได้เตรียมความพร้อม ในการผลิตอุปกรณ์เพื่อรองรับมาตรฐานนี้ในอนาคตนั่นเอง แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับฟีเจอร์ต่างๆเหล่านี้ เราควรไปทำความรู้จักกับ LE Audio หรือมาตรฐานใหม่ของสัญญาณบลูทูธกันก่อนครับ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ค่อนข้างมาก
มาตรฐาน Bluetooth LE Audio
Bluetooth LE Audio เป็นคุณสมบัติใหม่ที่มาพร้อมกับบลูทูธเวอร์ชั่น 5.0 ปกติแล้วเราสามารถแบ่งบลูทูธออกได้เป็น 2 ประเภท นั่นคือ Bluetooth Classic ที่ใช้พลังงานสูง แต่ให้ความเร็วในการส่งข้อมูลที่สูงเช่นเดียวกัน และ Bluetooth Low Energy (LE) ที่ใช้พลังงานต่ำกว่า และมีความเร็วในการส่งข้อมูลที่ต่ำกว่า โดยใช้อัลกอริธึมในการบีบอัดข้อมูลแบบใหม่ที่มีชื่อว่า LC3 (Low Complexity Communication Codec) แทนที่แบบเดิมคือ SBC ซึ่งมีการอ้างว่าให้คุณภาพเสียงที่เทียบเท่ากับ Bluetooth Classic แต่ใช้พลังงานน้อยกว่าเดิมถึง 2 เท่า หมดความกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดไวอีกต่อไป
ฟีเจอร์ใหม่ของ Bluetooth 5.2
1.ตอบโจทย์การใช้งาน IoT มากขึ้น
ด้วยฟีเจอร์ Isochronous Channels (ISOC) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยในเปิดการใช้งานเทคโนโลยี Multi-Stream Audio มากขึ้นกล่าวคือ โดยปกติแล้ว หูฟังประเภท True Wireless รุ่นประมาณ 1-2 ปีก่อน จะรับสัญญาณจากมือถือเข้าสู่หูฟังเพียงข้างเดียว แล้วทำการส่งต่อสัญญาณให้อีกข้าง เมื่อใช้ Multi-Stream ตัวหูฟังทั้งสองข้างจะรับสัญญาณจากมือถือโดยตรง ซึ่งจะทำงานแยกข้างกัน ทำให้ช่วยลดอาการดีเลย์ ต่อมาคือฟีเจอร์ Broadcast/Audio Sharing ทำให้สามารถกระจายข้อมูลเสียงไปยังหลายอุปกรณ์พร้อมกันได้ ในสถานที่เดียวกัน สร้างแนวทางใหม่ ๆ ในการใช้งานให้มากยิ่งขึ้น เช่น การใช้หูฟังในห้องประชุม เมื่อเราทำการเชื่อมต่อหูฟังเข้ากับอุปกรณ์ส่วนกลาง จะทำให้ทุกคนได้ยินเสียงเดียวกันนั่นเอง
2.ปรับสมดุลของสัญญาณให้เหมาะสม
ฟีเจอร์ LE Power Control (LEPC) ช่วยให้อุปกรณ์สามารปรับกำลังส่งที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน สามารถตรวจสอบความแรงของสัญญาณ และเปลี่ยนแปลงระดับพลังงานที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ โดยรักษาระดับความแรงของสัญญาณเอาไว้ให้เหมาะสม ทั้งเรื่องคุณภาพของสัญญาณ และรักษาการใช้พลังงานต่ำเอาไว้ ประโยชน์ของ LE Power Control ประกอบไปด้วย ควบคุมคุณภาพของสัญญาณให้ดีขึ้น, ลดความผิดพลาดเมื่ออุปกรณ์สิ้นสุดการรับสัญญาณ, ปรับปรุงการอยู่ร่วมกันกับสัญญาณอื่น ๆ ที่อยู่ในช่วงความถี่ 2.4 GHz ไม่ใช่แค่ผู้ที่ใช้สัญญาณบลูทูธเท่านั้น
3.ปลอดภัยมากขึ้น ดีเลย์น้อยลง
ฟีเจอร์สุดท้ายที่มาพร้อมกับ Bluetooth 5.2 คือ Enhanced Attribute Protocol (EATT) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นปรับปรุงของของเทคโนโลยี Attribute Protocol (ATT) ประโยชน์คือทำให้เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดการใช้พลังงานลง นอกจากนี้ยังลดค่าความหน่วงจากอุปกรณ์ทั้งต้นทางและปลายทางลง ให้คุณภาพของเสียงที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ด้านความปลอดภัย EATT ทำงานผ่านการเชื่อมต่อโดยการเข้ารหัส ทำให้มีความปลอดภัยมากกว่า ATT
บทสรุป Bluetooth 5.2
จะเห็นได้ว่าฟีเจอร์ใหม่ที่มากับ Bluetooth 5.2 นั้นอาจจะไม่ได้ดูแปลกใหม่ เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นก่อนหน้าอย่าง Bluetooth 5.1 และ Bluetooth 5.0 แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก เพิ่มความเสถียรให้มากขึ้น รวมไปถึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเวอร์ชั่นก่อน ๆ โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรและการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ยังเพิ่มความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจนกว่าเราจะได้เห็นการใช้มาตรฐาน Bluetooth 5.2 นี้อย่างแพร่หลายตามอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ น่าจะต้องรอกันอีกประมาณ 1-2 ปีเลยครับ ซึ่งถ้าหากมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีบลูทูธเวอร์ชั่นใหม่นี้เพิ่มเข้ามา รับรองว่า Mercular.com จะมาอัปเดตให้ผู้อ่านทราบอย่างแน่นอนครับ
ข้อมูลจาก
https://www.bluetooth.com/wp-content/uploads/2020/01/Bluetooth_5.2_Feature_Overview.pdf
https://www.novelbits.io/bluetooth-version-5-2-le-audio/