Audio101: จุกหูฟังมีกี่ประเภท มีผลต่อเสียงไหม

25 ธ.ค. 2561

Audio101: จุกหูฟังมีกี่ประเภท มีผลต่อเสียงไหม

หูฟังประเภท In-Ear นั้นถือว่าเป็นหูฟังที่ได้รับความนิยมที่สูงที่สุดและมีให้เลือกซื้อในทุกช่วงราคาไล่ตั้งแต่ถูกจนไปถึงระดับหกหลักเลยก็มี ซึ่งองค์ประกอบสำคัญมาก ๆ ที่มองข้ามไม่ได้เลย และเป็นตัวแปรเรื่องเสียงโดยตรงก็คือจุกหูฟังนั่นเอง โดยแต่ละแบรนด์นั้นก็จะให้จุกหูฟังมาหลากหลายชนิดและหลากหลายไซส์ ซึ่งหลายท่านอาจไม่มั่นใจว่าแบบไหนดีที่สุดและในความเป็นจริงแล้วไม่มีสูตรตายตัวเช่นกัน เพราะอยู่ที่การแม็ชชิ่ง (Matching) โทนเสียงระหว่างคาแรคเตอร์ของหูฟัง กับจุกประเภทต่าง ๆ ที่จะให้คุณสมบัติเสียงที่แตกต่าง มาดูกันเลยว่าจะเป็นอย่างไรกันบ้าง?


จุกหูฟังสำคัญยังไง?


จะว่าไปมันก็คือชิ้นส่วนหนึ่งของหูฟังอินเอียร์ที่สำคัญมากที่สุดตัวนึง เพราะมันคือตัวประสาน - เชื่อมต่อระหว่างหูฟังเข้ากับหูของเรา ถ้าใครโชคดีที่ใส่ได้พอดี เสียงที่ได้ยินจะดีเลิศกันไปเลย ส่วนใครที่ใส่ยังไงก็ไม่พอดีหลวมไปเสียงก็จะบางและเบสหาย ใส่แน่นไปก็ใส่ได้ไม่นานจะเจ็บหูปวดหัวไมเกรนกินสมอง เพราะอย่างนี้ไงมันเลยสำคัญ


จุกหูฟังมีผลต่อเสียงแค่ไหน


จุกหูฟังค่อนข้างมีผลกระทบต่อเสียงอย่างมาก ถึงแม้ว่าโดยหลักการของจุกหูฟังจะมีไว้เพื่อช่วยกันเสียงรบกวนภายนอกแต่ในความเป็นจริงนั้น “จุก” กลับเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญซึ่งทำให้คาแรคเตอร์ของเสียงสามารถเปลี่ยนไปได้มากเลยทีเดียว ดังนั้นในบางครั้งจึงมีนักฟังเพลงที่จริงจังถึงกับพยายามทำ Matching ระหว่างตัวหูฟังและจุกหูฟังกันเลยทีเดียว ส่วนเหตุผลที่เสียงเปลี่ยนแปลงได้นั้น เกิดจากขนาดท่อของตัวจุกหูฟัง วัสดุที่ใช้ทำจุกหูฟัง และระยะเดินทางของเสียงจากตัวหูฟังมาถึงหูของเราซึ่งจะแปรผันไปตามความยาวของท่อด้วย ดังนั้นการเลือกจุกหูฟังที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอันดับต้น ๆ

ประเภทของจุกหูฟัง

จุกหูฟังมีกี่ประเภท มีผลต่อเสียงไหม ?

1. จุกยาง (Rubber Eartips)


เป็นจุกที่จะพบได้บ่อย ๆ ในหูฟังอินเอียร์แบบราคาถูก ในอดีตถือเป็นจุกที่ได้รับความนิยมอย่างมากเพราะราคาไม่แพงและมักจะแถมมากับหูฟังอินเอียร์ในยุคแรก ๆ จุดเด่นของจุกชนิดนี้คือราคาถูกและทนทานมาก เมื่อเสียบเข้าไปในหูจะตัวท่อนำเสียงจะไม่เสียรูปได้ง่าย ทำให้เสียงส่งผ่านออกมาได้อย่างไม่มีปัญหา ข้อเสียคือแข็งกระด้างใส่นานๆจะรู้สึกไม่สบายหู บางคนอาจจะมีอาการระคายเคืองได้ และยังมีปัญหากับคนที่มีโพรงหูเล็กที่จะดันจุกออกตลอดเวลาแม้ว่าจะใส่ไซส์ที่เหมาะกับหูแล้วก็ตาม


  • ข้อดี: ราคาถูก เสียงดี เบสแรง ทนทานใช้งานได้หลายปี ไม่ต้องซื้อเปลี่ยนบ่อย
  • ข้อเสีย: แข็งกระด้าง อาจจะเกิดอาการเจ็บหูถ้าใส่นาน ๆ และอาจรู้สึกอึดอัดเพราะตัวจุกไปสร้างสภาพสุญญากาศในช่องหู รวมถึงมีปัญหากับคนที่แพ้ยาง


2. จุกแบบซิลิโคน (Silicone Ear Tips)


หรือก็คือจุกที่ใช้วัสดุประเภทซิลิโคนนั่นเอง โดยทำมาเพื่อให้ใช้ได้เป็นระยะนานทนทานหลายปี ข้อดีคือมีโอกาสที่คนจะแพ้น้อยกว่าจุกยางและยังมีความนุ่มนวลกว่ารวมถึงมีปัญหากับคนที่มีโพรงหูขนาดเล็กน้อยกว่าด้วย ข้อดีอีกอย่างคือเป็นจุกที่ให้เสียงเบสที่ดีกว่าแบบจุกยางโดยไม่ทำให้เสียงย่านอื่นด้อยลง จุกที่เป็นซิลิโคนส่วนใหญ่จะมีลักษณะอ่อนนุ่มไม่มี Memory Effect มันถูกออกแบบมาเพื่อให้สวมใส่สบายกว่าจุกยางและยังนำเสียงได้ดีไม่ต่างกัน


  • ข้อดี: ใส่สบายกว่าจุกยาง ซีลในรูหูดีกว่าจุกยาง คุณภาพเสียงดีกว่า เบสดี ไม่ค่อยพบคนที่แพ้จุก และทนทานใช้งานได้หลายปี 
  • ข้อเสีย: อาจจะเกิดอาการเจ็บหูถ้าใส่นาน ๆ และอาจจะรู้สึกอึดอัดเพราะตัวจุกไปสร้างสภาพสุญญากาศในช่องหู และมีโอกาสจุกย้วยได้ถ้าใช้ไปนาน ๆ


3. จุกโฟม (Foam Ear Tips)


จุกแบบโฟมหรือบ้านเรามักเรียกติดปากกับว่า “จุกฟองน้ำ” ในอดีตเคยเป็นจุกที่แถมมากับหูฟังของ Shure ซึ่งจะเป็นฟองน้ำออกแข็งๆเหมือนฟองน้ำล้างจาน เหตุผลที่ต้องทำแถมมาเพราะจุกแบบนี้จะทำให้ใส่เข้าได้กับทุกโครงสร้างของหู และยังช่วยซับเหงื่อให้กับผู้ใช้เพราะส่วนใหญ่หูฟัง Shure ในสมัยก่อนจะเป็นการใช้งานออกนอกสถานที่โดยเฉพาะงานของ Stage ของ PA ที่ต้องคอยมอนิเตอร์เสียงตลอดเวลา ทำให้การใส่จุกแบบฟองน้ำจะเหมาะสมมากกว่า แต่จุกประเภทนี้จะมีข้อเสียสำคัญคือ มันเกิด “Memory Effect” ได้ ซึ่งจะทำให้จุกบี้แบนไปตามรูปทรงของหูผู้ใช้ ดังนั้นทาง Westone ที่ได้เล็งเห็นปัญหาจากทาง Shure จึงได้คุยกับผู้ผลิตจุกเพื่อให้ทำจุกฟองน้ำแบบใหม่ และเป็นจุกที่ออกแบบเพื่อให้มาใช้งานกับหูฟังของทาง Westone โดยเฉพาะ ซึ่งจุกแบบใหม่ต้องมีความนุ่มนวลในการใส่และยังต้องไม่มีปัญหาของ “Memory Effect” อีกด้วย จึงกลายเป็นที่มาของจุกโฟมรุ่นใหม่ที่ทำจาก Memory Foam พร้อมรูปทรงปลายโค้งมนเพื่อให้สวมใส่ง่ายขึ้น และด้วยความที่บริษัทชื่อ Comply ดังนั้นจึงตั้งชื่อจุกชนิดนี้ว่า “Comply Foam” นั่นเอง ปัจจุบันถือเป็นตัวแทนจุกโฟมยุคใหม่ทำให้จุกแบบฟองน้ำในยุคเก่า ๆ ถูกเลิกผลิตไปในที่สุด

จุดเด่นของ Comply Foam คือเป็นจุกที่ใส่สบาย ใส่ง่าย สามารถเข้าได้กับทุกขนาดโพรงหู และยังมีไซส์ให้เลือกมากมายในกรณีที่ใช้กับคนหูเล็กพิเศษ แถมยังมีรุ่นพิเศษที่เป็นแบบ Wax Guard ซึ่งจะแผ่นฟองน้ำบาง ๆ กั้นในท่อนำเสียงเพื่อกันขี้หูได้ด้วย และยังเป็นจุกที่ช่วยแก้อาการเสียงแหลมที่จัดจ้านของหูฟังบางรุ่นให้มีความนุ่มนวลมากขึ้นทำให้เบสมีมวลเยอะขึ้น แต่จะให้ Impact เบสที่ด้อยกว่าจุกแบบซิลิโคนและจุกยาง


  • ข้อดี: นุ่มนวล ใช้ฟังเพลงได้นานโดยไม่เกิดอาการล้า ไม่มีปัญหากับคนโพรงหูเล็ก และไม่สร้างสภาพสุญญากาศภายในโพรงหูทำให้ไม่อึดอัด รวมถึงยังช่วยลดอาการเสียงแหลมจัดจ้านได้อีกด้วย
  • ข้อเสีย: ราคาค่อนข้างแพง พังง่าย ต้องเปลี่ยนบ่อย เนื่องจากจุกเป็นโฟมเลยจะซับเอาเหงื่อและแบคทีเรียเอาไว้ ทำให้มันสกปรกได้ง่ายแต่ทำความสะอาดได้ยาก ถ้าใช้กับหูฟังที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เสียงอับ กลางขุ่น แหลมไม่เปิด
จุกหูฟังมีกี่ประเภท มีผลต่อเสียงไหม ?

4. จุกแบบไฮบริด (Hybrid Ear Tips)


เป็นจุกชนิดพิเศษที่ผสมผสานระหว่างจุกซิลิโคนและจุกโฟมเข้าไว้ด้วยด้วยกันด้วยวิธีการใช้โครงภายนอกเป็นจุกซิลิโคนแต่เพิ่มส่วน Memory Foam เข้าไปตรงช่องว่างระหว่างจุกทำให้ตัวหูฟังชนิดนี้จะไม่มีช่องว่างแบบจุกซิลิโคนทั่วไป และถึงแม้จะเป็นการรวมร่างกันแต่กลับไม่ได้ออกแบบมาเพื่อดึงจุดดีของทั้งสองอย่างมารวมกัน เพราะเหตุผลของการทำจุกแบบไฮบริดก็เพื่อเพิ่มความทนทานของตัวจุกเองโดยเฉพาะเรื่องปัญหาจุกย้วยของจุกซิลิโคน และแก้ปัญหาเรื่องท่อนำเสียงที่มีโอกาสตีบได้ในกรณีดันหูฟังมากเกินไป และยังช่วยให้ตัวจุกสามารถซีลแนบกันรูหูได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นคุณภาพเสียงได้จะออกมาได้เต็มประสิทธิภาพกว่าจุกแบบซิลิโคนปรกติ


  • ข้อดี : ใส่กระชับ ไม่เจ็บ ไม่ทำให้ท่อนำเสียงตีบ ใส่นานๆจะสบายกว่าจุกแบบซิลิโคนธรรมดา และไม่มีอาการจุกย้วยเมื่อใช้ไปนานๆ คุณภาพเสียงดีกว่าแบบจุกซิลิโคน
  • ข้อเสีย : ใส่ไม่ไม่สบายเท่าจุกโฟม และมีปัญหาจุกดันได้กับคนที่โพรงหูเล็ก 


5. จุกแบบเจล (Gel Ear Tips / Monster Gel Supertips)


เป็นจุกชนิดพิเศษที่ออกแบบโดยผู้ผลิตหูฟังชื่อดังอย่าง “Monster” ถือเป็นจุกที่มีความใกล้เคียงกับจุกแบบไฮบริดมาก ๆ เพราะใช้ซิลิโคนเป็นโครงภายนอกเช่นกัน แต่ช่วงช่องว่างของจุกหูฟังนั้นจะใช้เป็นเจลนิ่ม ๆ แทนโฟม ทำให้เป็นจุกที่มีฟิลลิ่งในการใส่ใกล้เคียงกับจุกโฟมมากที่สุด แต่ไม่ทำให้เสียงทึบแบบจุกโฟมและมีความทนทานมากกว่าจุกโฟมรวมไปถึงจุกแบบซิลิโคนอีกด้วย ส่วนเสียงที่ได้จะอยู่ก้ำกึ่งระหว่างจุกโฟมและจุกซิลิโคน


  • ข้อดี : ใส่สบายกว่าจุกซิลิโคน ใส่แล้วรู้สึกกระชับ ไม่หลุดง่าย ๆ ไม่มีอาการจุกย้วยและสามารถทำความสะอาดได้ง่าย  
  • ข้อเสีย : เนื่องจากเป็นจุกที่มีช่วงท่อนำเสียงที่ค่อนข้างบางกว่าจุกชนิดอื่น ๆ และยังอ่อนกว่าเพราะอาศัยตัวเจลเป็นตัวช่วยพยุงท่อนำเสียง ทำให้เสียงที่ได้ค่อนข้างด้อยกว่าจุกซิลิโคน


6. จุกแบบคัสตอม  (Custom Ear Tips)


มันคือจุกที่ Perfect ที่สุดสำหรับเราเพราะสร้างมาจากสรีระหูของเราเอง วัสดุที่ใช้จะเป็นซิลิโคนซึ่งมีหลายเกรดมีทั้งเป็นแบบ Soft Silicone และ Hard Silicon บางยี่ห้อราคาไม่กี่พันบาทช่วงแรกก็อ่อนดีใส่ง่าย แต่ใช้ได้ไม่นานก็จะแข็งใส่แล้วเจ็บ ส่วนพวกยี่ห้อดี ๆ ใช้ซิลิโคนอย่างดีก็จะอ่อนนุ่มยืดหยุ่นสูง ใช้ได้เป็นเวลานาน


  • ข้อดี : มันคือจุกที่ Perfect ที่สุดแล้ว เพราะทำมาจากหูเราเอง คุณภาพเสียงจะแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เสียงแหลมชัดฟังง่าย เสียงเบสลงลึกมีน้ำหนัก ใช้งานได้นานหลายปี
  • ข้อเสีย : ราคาค่อนข้างสูงตั้งแต่สี่ห้าพันไปจนเกือบหมื่นบาท และวิธีการได้มาค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องไปฉีด Mold หูก่อนถึงจะส่งไปทำเป็นจุกแบบ Custom ได้


จะเห็นได้ว่า Eartips นั้นเป็นเค่อนข้างมีผลกระทบต่อเสียงพอสมควร ทั้งนี้การเลือกจุกหูฟังนอกจากจะเลือกที่ความสบายแล้ว ควรจะเลือกให้จุกนั้น Matching กับสไตล์เสียงของหูฟังเราด้วย เช่นจุกที่เสียงแหลมจัดจ้านจนไม่น่าฟังก็ควรจะใช้กับจุกแบบโฟม หรือถ้าเป็นหูฟังที่เสียงค่อนข้างขุ่น image ใหญ่ ก็ควรจะใช้กับจุกซิลิโคนที่มีท่อนำเล็กปลายทรงแหลม เพราะจะช่วยให้เสียงเปิดมากขึ้นและโฟกัสให้ image เล็กลง ทำให้ได้ soundstage ที่ดีขึ้น เสียงเบสกระชับขึ้น


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูขนาดของรูหูของผู้ใช้งานด้วย ยังไงก็เลือกไซส์ที่พอดีกับหูนั้นก็จะดีที่สุด เพราะถ้าใส่ผิดไซส์ผิดขนาดการซีลเสียงนั้นอาจจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซนต์ ส่งผลให้คุณภาพเสียงที่ได้นั้นไม่เต็มประสิทธิภาพอีกเช่นกัน ดังนั้นเราควรจะเลือกจุกหูฟังให้เข้ากับหูเข้าเราด้วยนั่นเอง

best-seller-ads
article-banner-1
article-banner-2