ศัพท์เครื่องเสียงเบื้องต้น สำหรับมือใหม่

17 ก.พ. 2560

ศัพท์เครื่องเสียงเบื้องต้น สำหรับมือใหม่

เคยไหม!? เวลาที่เราต้องการหูฟังหรือลำโพงดีๆซักตัว แล้วไปอ่านข้อมูลในเน็ตหรือเดินเข้าไปสอบถามพนักงานในร้านก็ไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่พูด ลองฟังก็ฟังไม่ออกเพราะเสียงแวดล้อมค่อนข้างดัง จนสุดท้ายก็ให้พนักงานแนะนำ แล้วก็ซื้อหูฟังมาโดยไม่แน่ใจว่าเป็น เสียงที่เราต้องการได้จริงๆหรือเปล่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือการเข้าใจถึง คำศัพท์เรื่องเสียง ที่จะช่วยให้เราบอกได้ว่าต้องการหูฟังแบบไหน

ซึ่งในวันนี้ Mercular.com จึงถือโอกาสแนะนำ คำศัพท์เบื้องต้นเกี่ยวกับหูฟัง ลำโพง หรือเครื่องเสียงว่าเขามีศัพท์ที่นิยมใช้อะไรกันบ้าง แล้วแต่ละคำมีความหมายหรือนัยยะสำคัญอะไร ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับ เสียงของหูฟังหรือลำโพงที่คุณกำลังเลือกซื้อมากขึ้น มาติดตามกันเลยครับ

เสียงกลาง – เสียงสูง เสียงเบส คืออะไร?

สำหรับมือใหม่หัดฟัง แรกๆเวลาคุยกับเพื่อน คงจะบอกได้แค่ว่าเสียงดี หรือเสียงไม่ดี แต่ถ้าคุณเข้าใจ เสียงอย่างถ่องแท้แล้วละก็ เรื่องของเสียงสามารถพูดได้ยาวเลยละครับ เริ่มต้นจากย่านเสียงก่อน โดยทั่วไปเสียงจะมี 3 ย่านหลักๆ

ศัพท์เครื่องเสียง

ย่านเสียงกลาง: ถ้าพูดให้เข้าใจแบบเร็วๆ เสียงกลางก็คือเสียงร้องของนักร้องโดยส่วนใหญ่ เสียงกลองสแนร์หรือทอม เสียงกีตาร์ รวมไปถึงเครื่องดนตรีส่วนใหญ่มันจะอยู่ในย่านนี้ แต่ถ้าจะให้อธิบายถึงหลักการ เสียงกลางก็คือเสียงที่อยู่ในระดับความถี่ตั้งแต่ 100Hz-3,000KHz หรือ 160-1,500 Hz ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับเสียงกลางที่ไม่ดีจะมีตั้งแต่เสียงกลางที่ร้องขึ้นจมูก เหมือนคนเป็นหวัด อุดๆอู้ๆ ฟังไม่สนุก เสียงร้องบวมไปทับเสียงอื่นๆ หรือพุ่ง เจิดจ้า จนทำให้สมดุลของเสียงเสียนั่นเอง ซึ่งส่วนมากหูฟังที่มีเสียงกลางดีๆ จะค่อนข้างโปร่ง ใส ไม่อึดอัด เวลาฟังแล้วรู้สึกโล่ง เด่น เป็นประกาย น้ำเสียงของนักร้องถูกถ่ายทอดอารมณ์มาพร้อมกับเนื้อร้องได้อย่างชัดเจน ฟังสบาย รวมถึงไม่ถูกเสียงอื่นๆรบกวนจนฟังไม่รู้เรื่องนั่นเอง

ศัพท์เครื่องเสียง

ย่านเสียงสูง: เสียงสูงหรือเสียงแหลมจะเป็นย่านที่ความถี่สูงสุด โดยปรกติจะอยู่ที่ประมาณ 5 KHz ขึ้นไปแต่มักไม่เกิน 20-25 KHz ส่วนใหญ่เสียงสูงที่ได้เราได้ยินกันจะเป็นพวกเสียงฉาบ แฉในกลองชุด ทรัมเปต โอโบ หรือพิคโคโลโน๊ตสูงๆ รวมไปถึงเครื่องเคาะที่เป็นโลหะต่างๆเช่น Triangle รวมไปถึงเสียงแซ็กโซโฟนชนิดโซปราโน หรือเครื่องดนตรีประเภทสีที่มีเสียงสูงอย่างไวโอลิน ซึ่งเสียงสูงที่ดีต้องไม่บาดหู มีความคมชัด รวมถึงปลายเสียงที่ทอดตัวไล่ระดับขึ้นไปได้ดี ตรงจุดนี้หากหูฟังหรือลำโพงมีย่านเสียงสูงที่ดี สามารถฟังเพลงแจ๊สหรือออร์เคสตราที่มีเครื่องดนตรีประเภทสีได้มีอรรถรสเป็นอย่างมาก

ศัพท์เครื่องเสียง

ย่านเสียงต่ำ หรือ เสียงเบส: สำหรับย่านเสียงต่ำ หรือเสียงเบส ที่หลายๆคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว ถ้าพูดให้เห็นภาพก็เช่นเสียงของกระเดื่องของกลองชุด กีตาร์เบส รวมไปถึง Double Bass หรือ Tuba ที่อยู่ในวง Orchestra เป็นต้น ซึ่งเสียงนี้จะอยู่ในช่วงความถี่ประมาณ 20-200Hz โดยเจ้าเสียงต่ำสามารถแบ่งย่อยได้เป็น Upper Bass, Mid Bass และ Deep Bass

1. Upper Bass เสียงย่านนี้จะเป็นลักษณะเสียงต่ำช่วงต้นซึ่งเบสตัวนี้จะเป็นตัวกำหนดของเขตระหว่างเสียงเบสและเสียงกลางโดยหากมี Upper Bass ที่มากเกินไปจะทำให้เสียงเบสมีลักษณะหึ่งและบวม ซึ่งในหลายๆครั้งที่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยได้ยินเสียงรายละเอียดขอเสียงร้อง ก็อาจจะมาจากการที่เสียงย่านนี้ไปมีมากเกินจนฟุ้งขึ้นไปกลบเสียงร้องหรือเครื่องดนตรีนั่นเอง


2. Mid Bass – จะเป็นส่วนของเนื้อเบสหรือมวลเบส เบสจะหนาจะบาง มีมวลน้อยหรือมากจะขึ้นกัน Mid Bass ครับ


3. Deep Bass – จะให้เสียงเบสย่านลึกนั่นเอง เสียงเบสนี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เราได้รู้สึกถึงแรงกระแทกของเบสนั่นเอง ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าไม่ใช่ลำโพงหรือหูฟังทุกตัวที่จะมีเสียงย่านนี้ การที่จะได้ยินเสียง Deep Bass ได้ต้องถือว่าลำโพงหรือหูฟังนั้นมีคุณภาพพอตัวเลยทีเดียว


ซึ่งเสียงเบสที่ดี จะต้องได้ยินเสียงตัวโน๊ตชัดเจน สามารถไล่ระดับลงไปได้ลึก มีมวลและแรงประทะที่อยู่ในระดับที่พอเราต้องการ ที่สำคัญคือไม่บวมหรือล้นไปบดบังรายละเอียดย่านอื่น ถือเป็นข้อควรระวังอย่างมากในการเลือกหูฟังหรือลำโพงครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับคำศัพท์เบื้องต้นที่เราได้แนะนำกันในวันนี้ หลายๆคนอ่านจบปุ๊ปอาจมีข้อสงสัย หรือมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถส่งข้อความมาที่ Facebook: Mercular.com ได้เลยครับ

article-banner-1
article-banner-2