YouTube Music vs Spotify แอปฯ ฟังเพลงตัวไหนเจ๋งกว่ากัน
7 ต.ค. 2565
ปัจจุบันเป็นยุคของ Music Streaming เต็มตัว เห็นได้จากความนิยมในการฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชัน, ยอดดาวน์โหลด, รวมถึงการแข่งขันด้านคอนเทนต์และแคมเปญโปรโมตของแพลตฟอร์มฟังเพลงออนไลน์หลายๆ เจ้าที่ดุเดือดเข้มข้น แน่นอนว่า YouTube Music และ Spotify เป็นสองแอปฯ ฟังเพลงยอดนิยมของไทยที่มีผู้ใช้จำนวนมากทั้งบนสมาร์ตโฟนและบนคอมพิวเตอร์ PC ซึ่งทั้งสองแอปฯ ต่างก็มีความน่าใช้ มีเพลงเยอะ ใช้งานง่าย แต่แอปฯ ไหนล่ะที่ดีกว่ากัน บทความนี้ Mercular.com จะมาเปรียบเทียบให้ดูว่าระหว่าง YouTube Music vs Spotify ใครเจ๋งกว่ากัน แต่ละแอปฯ มีจุดเด่นจุดด้อยยังไง เหมาะกับใครบ้าง คนรักการฟังเพลงที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะฟังเพลงจากแอปฯ ไหนระหว่างสองตัวนี้ต้องดู
เปรียบเทียบ YouTube Music vs Spotify
YouTube Music และ Spotify เป็นแอปพลิเคชันฟังเพลงออนไลน์ หรือ Music Streaming เจ้าดังของไทย เปิดให้บริการทั้งบนระบบ iOS และ Android รวมถึงยังฟังผ่านหน้าเว็บเบราว์เซอร์หรือโหลดโปรแกรมลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ ดังนั้นทั้งสองแอปฯ จึงไม่มีข้อจำกัดในด้านอุปกรณ์ที่รองรับ
Spotify เกิดขึ้นมาก่อน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการมิวสิกสตรีมมิ่งในไทยก็ว่าได้ ส่วน YouTube Music เป็นการรีแบรนด์จาก Google Play Music มาทีหลัง Spotify ระยะหนึ่งแต่ก็มีข้อได้เปรียบจากการเป็นลูกหม้อของ Google และมีเนื้อหาที่ซิงค์กับวิดีโอบน YouTube ซึ่งเป็นช่องทางที่ศิลปินทั่วโลกใช้ปล่อยผลงานอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องของเทรนด์ กระแสต่างๆ เพลงใหม่ อัลบัมใหม่ มีอัปเดตอยู่ตลอดเวลา
เพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบระหว่าง YouTube Music vs Spotify Mercular.com จะแบ่งหัวข้อการเปรียบเทียบหลักๆ ออกเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้
ราคาและแพ็กเกจ
ทั้ง YouTube Music และ Spotify สามารถโหลดมาฟังเพลงได้แบบฟรีๆ แต่ต้องแลกมาด้วยการมีโฆษณาแทรกระหว่างเพลง Spotify สามารถกดข้ามเพลงถัดไปและกดย้อนกลับเพลงก่อนหน้าได้เพียง 6 ครั้งเท่านั้น หลังจากนั้นจะทำไม่ได้ ต้องปล่อยให้แอปฯ เล่นเพลงไปตามลำดับเพลย์ลิสต์เท่านั้น ส่วน YouTube Music จะไม่สามารถออกจากแอปฯ แล้วฟังเพลงไปพร้อมกันได้ ทั้งยังฟังเพลงแบบปิดหน้าจอสมาร์ตโฟนไม่ได้ด้วย ต้องเปิดหน้าแอปฯ ค้างไว้ตลอด
บริการแบบเสียเงินของ YouTube Music จะเรียกว่า YouTube Music Premium มีให้เลือกทั้งหมด 4 แพ็กเกจ ประกอบด้วย
- แพ็กเกจบุคคลรายเดือน ราคา 129 บาท/ต่อเดือน มีให้ทดลองใช้ฟรี 1 เดือน
- แพ็กเกจบุคคลรายปี ราคา 1,290 บาท/ปี
- แพ็กเกจครอบครัวรายเดือน ราคา 199 บาท/เดือน มีให้ทดลองใช้ฟรี 1 เดือน เพิ่มสมาชิกในครอบครัวได้สูงสุด 5 คน
- แพ็กเกจนักเรียนนักศึกษารายเดือน ราคา 65 บาท/เดือน มีให้ทดลองใช้ฟรี 1 เดือน ต้องมีการยืนยันสถานะรายปี
บริการแบบเสียเงินของ Spotify จะเรียกว่า Spotify Premium มีให้เลือกทั้งหมด 4 แพ็กเกจเช่นกัน ประกอบด้วย
- แพ็กเกจ Mini มีสองแบบได้แก่ รายวัน ราคา 7 บาท/วัน กับ รายสัปดาห์ ราคา 26 บาท/สัปดาห์
- แพ็กเกจ Individual รายเดือน ใช้งานได้ 1 บัญชี ราคา 129 บาท/เดือน
- แพ็กเกจ Duo รายเดือน ใช้งานได้ 2 บัญชี ราคา 169 บาท/เดือน
- แพ็กเกจ Family รายเดือน ใช้งานได้ 6 บัญชีสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่อยู่บ้านเดียวกัน ราคา 209 บาท/เดือน
บริการแบบเสียเงินของทั้งสองแอปฯ จะได้สิทธิประโยชน์คล้ายๆ กันคือ ฟังเพลงแบบไม่มีโฆษณาคั่น ดาวน์โหลดเพลงลงในอุปกรณ์เอาไว้ฟังแบบออฟไลน์ได้ และใช้งานได้ในทุกอุปกรณ์ ในแอปฯ Spotify จะสามารถกดข้ามเพลง-ย้อนกลับเพลงก่อนหน้าได้ ส่วน YouTube Music ก็จะฟังเพลงโดยปิดหน้าแอปฯ ไปใช้งานแอปฯ อื่น หรือปิดหน้าจอสมาร์ตโฟนเพื่อฟังแต่เสียงเพลงได้
เมื่อเทียบกันด้านราคา Spotify Premium จะมีตัวเลือกแพ็กเกจที่หลากหลายกว่า ราคาแพ็กเกจครอบครัวก็ถูกกว่า แถมจำนวนสมาชิกในครอบครัวก็เพิ่มได้มากกว่าด้วย นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษสำหรับนักศึกษาคือฟังฟรี 1 เดือน หลังจากนั้นเพียง 65 บาท/เดือน ได้ฟีเจอร์ทุกอย่างเทียบเท่าแพ็กเกจเสียเงินอื่นๆ
คุณภาพเสียง
หัวข้อนี้มีความสำคัญสำหรับคนที่ซีเรียสเรื่องคุณภาพเสียง ทั้งสองแอปฯ เล่นไฟล์เพลงในฟอร์แมต AAC เหมือนกันซึ่งไฟล์แบบ Lossy มีการบีบอัดข้อมูลทำให้สูญเสียรายละเอียดไปบ้างแต่ก็มีข้อดีคือไฟล์มีขนาดเล็กทำให้โหลดได้เร็วและประหยัดปริมาณการรับส่งข้อมูล
เริ่มจากบริการแบบฟรีบนแอปฯ ในสมาร์ตโฟนกันก่อน YouTube Music จะเล่นเพลงที่ความละเอียด 128kbps ส่วน Spotify เล่นที่ความละเอียด 160kbps เป็นความละเอียดต่ำที่ยังพอฟังได้ เน้นโหลดเร็ว แต่คุณภาพและรายละเอียดเสียงไม่ชัดเจนมากนัก หากอยากได้คุณภาพจัดเต็มต้องอัปเกรดเป็นบริการแบบเสียเงิน
สำหรับบริการแบบเสียเงินของทั้งสองแอปฯ จะสามารถเลือกระดับคุณภาพเสียงได้ โดย YouTube Music Premium เลือกได้ 4 ระดับ คือ
- ต่ำ (48kbps)
- ปานกลาง (128kbps)
- สูง (256kbps)
- สูงเสมอ (256kbps)
ส่วน Spotify Premium เลือกได้ 5 ระดับ คือ
- อัตโนมัติ (ปรับความละเอียดแปรผันตามคุณภาพอินเทอร์เน็ต)
- ต่ำ (24kbps)
- ปานกลาง (96kbps)
- สูง (160kbps)
- สูงมาก (320kbps)
เมื่อเทียบกันแล้วจะเห็นว่า ถ้าเป็นบริการแบบฟรี YouTube Music จะมีคุณภาพเสียงดีกว่า แต่ถ้าเป็นบริการแบบเสียเงิน Spotify Premium จะมีคุณภาพเสียงดีกว่า อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่าง 256kbps กับ 320kbps นั้นแทบจะแยกกันไม่ออกถ้าหากฟังด้วยลำโพงหรือหูฟังเกรดมาตรฐานทั่วไป จะเห็นผลชัดในอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงและมี system ที่เอื้ออำนวยต่อการฟังระดับจริงจัง หรือคนที่มีประสบการณ์ระดับหูทองคำ ในทางเทคนิคแล้วทั้งสองแอปฯ ให้คุณภาพเสียงแตกต่างกันจริง แต่การฟังทั่วไปถือว่าให้คุณภาพเสียงไม่ต่างกันมาก
เนื้อหาคอนเทนต์
ทั้ง YouTube Music และ Spotify ล้วนมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจมากมายภายในแอปฯ หลักๆ เลยคือเรื่องของปริมาณเพลงที่มากมายมหาศาลซึ่งมีการจัดหมวดหมู่ให้เข้าถึงได้ง่ายตามแนวเพลง ศิลปิน และอัลบัมที่เกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ยังมีการจัดเป็นเพลย์ลิสต์ที่น่าสนใจมากมาย เช่น เพลย์ลิสต์ตามอารมณ์ เพลย์ลิสต์ตามกิจกรรม สถานีวิทยุแนะนำ เพลงฮิตท็อปชาร์ต เพลงออกใหม่ เพลงที่ฟังบ่อย เพลงแนะนำ ซึ่งทั้งสองแอปฯ ใช้อัลกอริทึมที่มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ว่าผู้ฟังชอบเพลงแนวไหน ฟังเพลงอะไรบ่อย หรือชอบศิลปินคนไหนเป็นพิเศษ จนสามารถแนะนำเพลงได้ค่อนข้างถูกจริตของคนฟังเลยทีเดียว
สิ่งที่ Spotify ได้เปรียบเป็นเรื่องของพอดแคสต์ที่มีให้เลือกฟังเยอะมากๆ โดยที่ YouTube Music ไม่มีในส่วนนี้ จริงอยู่ที่เราสามารถเปิดฟังจากใน YouTube ได้แต่มันคงจะดีกว่าถ้ารวมอยู่ภายในแอปฯ เดียว นอกจากนี้ Spotify ยังมีเพลงจากโปรเจกต์พิเศษที่ทำขึ้นสำหรับแพลตฟอร์มนี้โดยเฉพาะ หาฟังจากที่อื่นไม่ได้ รวมไปถึงจำนวนเพลย์ลิสต์ที่มีมากกว่าโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพลงเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเสียงบรรยากาศที่เอาไว้สร้างความผ่อนคลาย ตลอดจน Audiobook ที่มีให้เลือกฟังได้แบบเพลินๆ
สิ่งที่ YouTube Music ยอดเยี่ยมกว่าคือสามารถฟังเพลงที่ไม่ได้เพลงแบบทางการจากศิลปินได้ เช่น เพลงคัฟเวอร์ เพลงรีมิกซ์ เพลงแปลง รวมไปถึงการแจมสดทุกประเภทที่ผู้ใช้ YouTube อัปโหลดไว้ พูดง่ายๆ ว่าบน YouTube มีเพลงอะไรเราจะสามารถฟังเพลงพวกนั้นทั้งหมดได้บน YouTube Music เช่นกัน นอกจากนี้ YouTube Music ยังใช้ประโยชน์จากคลังมิวสิกวิดีโอขนาดใหญ่ของตัวเองด้วยการให้ผู้ฟังสามารถกดสลับระหว่างฟังเพลงที่มีแค่เสียงเฉยๆ หรือกดดูมิวสิกวิดีโอของเพลงนั้นๆ ในทันที ฟังต่อเนื่องโดยไม่ต้องเริ่มต้นเล่นเพลงใหม่ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่สะดวกและเหมาะกับคนชอบดู MV ประกอบเพลงมากๆ
คุณสมบัติเพิ่มเติม
หัวข้อนี้อาจจะไม่ใช่หัวข้อหลักแต่ก็มีความสำคัญ ทั้ง YouTube Music และ Spotify มีฟีเจอร์แสดงเนื้อเพลง บันทึกเพลงที่ชอบไว้เป็นเพลย์ลิสต์ส่วนตัว สร้างเพลย์ลิสต์ใหม่ แชร์เพลงหรือเพลย์ลิสต์ให้เพื่อน ซึ่งช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานแอปฯ ให้สนุกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทั้งสองแอปฯ ยังมีฟังก์ชันการ cast ไปยังอุปกรณ์ที่รองรับซึ่งดีมากหากต้องการให้เพลงที่กำลังฟังอยู่ไปเล่นบนลำโพงบลูทูธหรือซาวด์บาร์อัจฉริยะที่มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพดีกว่า โดยปัจจุบันมีลำโพงหลายรุ่นรองรับทั้ง Chromecast และ Spotify Connect ทำให้การฟังไม่จำกัดว่าต้องอยู่บนสมาร์ตโฟน โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ลำโพงบางตัวอาจเข้ากับบริการ cast ได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ก็รองรับทั้งสองอย่าง ดังนั้นควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าแอปฯ ที่เลือกทำการ cast กับลำโพงที่มีได้หรือไม่
YouTube Music vs Spotify ฟังแอปฯ ไหนดี
ทั้ง YouTube Music และ Spotify เป็นบริการสตรีมมิ่งที่ดีทั้งคู่ มีเพลงเยอะ เนื้อหาคอนเทนต์น่าสนใจ ใช้ง่าย ฟังได้กับหลายๆ อุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม การเลือกระหว่าง YouTube Music และ Spotify ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณกำลังมองหาในบริการสตรีมมิ่ง หากคุณให้ความสำคัญกับคุณภาพเสียงแน่นอนว่าในทางเทคนิค Spotify เฉือนชนะไปแบบหวุดหวิด รวมถึงเพลย์ลิสต์เพลงและพอดแคสต์ที่เยอะและตรงใจกว่า แต่ถ้าต้องการความสะดวกแบบ One Stop Service ชอบดู MV ดูคลิป YouTube แน่นอนว่า YouTube Music เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์กว่า เนื่องจากทั้งเนื้อหาจากทั้งสองแหล่งจะซิงค์กัน อะไรที่ฟัง อะไรที่ชอบใน YouTube จะถูกเสิร์ฟบน YouTube Music ด้วยเช่นกัน
บริการสตรีมมิ่งทั้งคู่มีค่าบริการใกล้เคียงกันซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่าต่อเงินที่จ่ายไปทุกเดือนแล้ว ดังนั้นข้อนี้เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ แต่ถ้าคุณมองว่าที่เป็นเรื่องสำคัญ แพ็กเกจครอบครัวของ Spotify มีราคาถูกกว่าแถมยังเพิ่มสมาชิกได้มากกว่า YouTube Music
ถึงตรงนี้ลูกค้าทุกท่านจะได้รู้แล้วนะครับว่า YouTube Music vs Spotify มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร ใครเจ๋งกว่ากัน หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังลังเลเลือกไม่ได้ว่าจะใช้แอปฯ ฟังเพลงตัวไหนดี แนะนำว่าให้ลองเล่นเวอร์ชันฟรีของทั้งสองแอปฯ ดูก่อนครับ เปรียบการใช้งาน ประสิทธิภาพ ฟีเจอร์ เนื้อหาคอนเทนต์ต่างๆ ดูก่อน เมื่อลองเล่นแล้วพบว่าชอบไม่ชอบอย่างไรจะตัดสินใจได้เองว่าควรใช้แอปฯ ไหน เมื่อเลือกแอปฯได้แล้ว ทางที่ดีควรใช้แบบ Premium ไปเลย ราคารายเดือนไม่สูงมาก จะได้เข้าถึงคุณภาพสูงสุดที่แต่ละแอปฯ มีให้แบบครบๆ
สุดท้ายนี้ Mercular.com ต้องขอตัวลาไปก่อน พบกับบทความ Comparison สินค้าและบริการดีๆ แบบนี้ได้ที่เว็บไซต์ของเรา สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ