ปลั๊กรางที่ดีควรมีลักษณะแบบไหน?

22 ธ.ค. 2561

ปลั๊กรางที่ดีควรมีลักษณะแบบไหน?

อีกหนึ่งอุปกรณ์ประจำบ้านคือ ปลั๊กราง หรือปลั๊กไฟ  ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ รวมถึงปลั๊กพ่วง ที่ต้องเลือกใช้งานให้เหมาะสม ซึ่งปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วง เป็นอุปกรณ์สำหรับต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าไปใช้งานทั้งภายในและภายนอกบ้าน ที่อย่างน้อยบ้านแต่ละหลังก็ต้องมีไว้สัก 1-2 อัน เพราะเต้ารับภายในมีไม่พอสำหรับการใช้งานจริง หรือตำแหน่งเต้าไม่อยู่ตรงจุดที่สะดวกในการใช้ เช่น ต่อทีวี ต่อไมโครเวฟ ต่อเตารีด หรือลำโพงบ้าน เป็นต้น การใช้ปลั๊กราง ปลั๊กพ่วง จึงเป็นการอำนวยความสะดวกได้มากๆ แถมยังหาซื้อได้ง่ายดาย มีหลากหลายยี่ห้อให้คุณได้เลือกตามวัตถุประสงค์หรือความชอบส่วนตัว แต่คุณหารู้ไหมว่า สาเหตุนึงที่ก่อให้เกิดไฟไหม้บ้านก็มาจากปลั๊กรางเนี่ยแหละ อาจจะเป็นเพราะเสียบปลั๊กไฟหลายปลั๊กพร้อมกันบนรางเดียว สินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน มีเหตุผลต่างๆนานา เลยจึงเป็นที่มาของความสงสัยว่า ปลั๊กรางที่ดีนั้นควรมีลักษณะแบบไหนกันแน่ ยี่ห้ออะไรถึงมาตรฐานที่เล็งความปลอดภัยเป็นหลัก คราวนี้ขอพาทุกคนไปรู้จักปลั๊กรางให้ดียิ่งขึ้นเวลาเลือกซื้อมาจะได้ไม่มานั่งปวดหัวหรือต้องซื้อซ้ำทีหลัง 

เลือกให้ถูกก่อนตัดสินใจ

เราจะมั่นใจได้ไงว่า ปลั๊กไฟที่ใช้อยู่จะมีมาตรฐาน และได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตราบที่ใช้ปลั๊กไฟอยู่? วันนี้จึงมีหลักง่าย ๆ ที่จะช่วยเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจซื้อปลั๊กไฟกัน

  • มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. อันดับแรกที่จะขาดไม่ได้สำหรับการเลือกซื้อปลั๊กไฟ เราควรจะต้องดูว่าปลั๊กไฟตัวนั้นได้รับ มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) หรือได้รับมาตรฐานสากลเช่น CE TUV CCC CQC ซึ่งรางปลั๊กไฟที่ได้รับ มอก. ส่วนใหญ่จะเป็นในส่วนที่เป็นสายไฟ คือ มอก. 11-2531 คือ มอก. สายไฟหุ้มฉนวนทองแดง PVC รองรับอุณหภูมิที่ 70 องศาเซลเซียส
  • สายไฟ ควรเลือกสายไฟที่มีเครื่องหมายมอก. หรือมาตรฐานของ IEC มีสายไฟภายใน 3 เส้น และมีฉนวนหุ้มทั้งสองชั้น เพื่อป้องกันการหักงอ  มีความยาวที่เหมาะสมกับการใช้งานอาทิ 3 เมตร หรือ 5 เมตร และควรมีขนาดสายไฟไม่ต่ำกว่า 0.824 ตารางมิลลิเมตรหรือสายเบอร์18 (AWG) เพื่อรองรับโหลดกระแสไฟได้สูงหน่อย หากต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่างในเวลาเดียวกันซึ่งสายไฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถรองรับกระแสไฟได้ดีกว่า)
  • ระบบไฟฟ้า ปลั๊กรางที่ดีควรบอกถึงพิกัดไฟสูงสุดที่รับได้ นอกจากนั้นต้องมีระบบฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ตัดกระแสไฟฟ้าเกิน และควรมีสวิตช์ปิด-เปิดเพื่อป้องกันไฟกระชากจากการถอดปลั๊กเต้าเสียบ มีไฟแสดงสถานะการทำงานและปลั๊กพ่วงรุ่นใหม่ๆอาจมีช่องเสียบUSB เพิ่มมา สำหรับใช้ชาร์จพวกอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ
  • เต้ารับ ขาเต้ารับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผงวงจรภายในควรทำจากทองเหลืองหรือทองแดง เพราะนำไฟฟ้าได้ดีกว่าเหล็กชุบสีหรือโลหะอื่นๆ เพราะหากเป็นเหล็กชุบสี ก็ใช้ไปไม่นาน ขาเสียบมักจะหลวม อาจเกิดการอาร์คขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ปลั๊กพ่วงไหม้ได้

เกร็ดความรู้เล็กน้อย

  • ปลั๊กพ่วงต่อคอมที่มีจำหน่ายในบ้านเรา แทบทุกแบรนด์จะบอกกว่ามีมอก. กันทั้งนั้นเพราะมาตรฐานมอก.11-2531 ที่เห็นบนปลั๊กพ่วงส่วนใหญ่นั้นเป็น มอก.ของสายไฟฟ้า ซึ่งเครื่องหมายมอก.2432-2555ต่างหากที่จะเป็นตัวบอกได้ว่าชุดสายพ่วงนั้นผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว เป็นมาตรฐานของชุดสายพ่วงทั้งชิ้น ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปปัจจุบันมีเพียง 1-2 ราย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานนี้ ซึ่งเชื่อว่าอีกหน่อยในอนาคตอันใกล้ ผู้ผลิตหลายๆรายก็จะเริ่มเข้าสู่มาตรฐานใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อ
  • หลายท่านที่ซื้อปลั๊กพ่วงมาใช้งานมักจะคลั่งไคล้เต้ารับนานาชาติ ถ้าเป็นคนที่ไปต่างประเทศบ่อยๆ ได้นำไปใช้งานก็ถือว่าคุ้มและตอบโจทย์เป็นอย่างมาก แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าของประเทศเราส่วนใหญ่ หัวปลั๊กจะเป็นแบบหัวกลมและแบน ดังนั้นเต้ารับนานาชาติจึงอาจไม่จำเป็นเท่าไหร่ แค่เลือกใช้เต้ารับที่ได้มาตรฐานมอก.เสียบปลั๊กได้แน่น ไม่หลวมก็เพียงพอแล้ว แถมยังประหยัดเงินได้อีกด้วย
  • สำหรับใครที่เลือกซื้อปลั๊กรางก็ลองเลือกซื้อตามหัวข้อพื้นฐานที่กล่าวมาดูแม้ว่าราคาบางตัวอาจจะแพงไปหน่อย  แต่เมื่อเทียบกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้วมันดีกว่าซื้อปลั๊กรางที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ มันคุ้มค่ากว่ากันเยอะเลย
best-seller-ads
article-banner-1
article-banner-2