วิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอลฉบับมือใหม่ รู้จักปุ่มและการใช้งานเบื้องต้น

22 ธ.ค. 2565

วิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอลฉบับมือใหม่ รู้จักปุ่มและการใช้งานเบื้องต้น

มิกเซอร์ดิจิตอลเป็นอุปกรณ์ผสมสัญญาณเสียงที่พัฒนาต่อยอดมาจากมิกเซอร์แอนะล็อกให้มีความสามารถในการทำงานได้ละเอียดมากขึ้น การใช้งานอาจมีความซับซ้อนกว่ามิกเซอร์แอนะล็อกจึงต้องอาศัยการฝึกใช้บ่อยๆ จนเกิดความชำนาญ สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นมิกซ์เสียงด้วยมิกเซอร์ดิจิตอลน่าจะรู้สึกว่ามันค่อนข้างยาก ล้ำลึก และซับซ้อน มิกเซอร์เป็นอุปกรณ์ที่ต้องศึกษาเรียนรู้และค่อยๆ ทำความเข้าใจไปทีละนิด บทความนี้ Mercular.com จะมาแนะนำวิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอลเบื้องต้น ทำความรู้จักปุ่มต่างๆ การเชื่อมต่ออินพุต/เอาต์พุต การปรับแต่งเสียงเบื้องต้น มือมิกซ์หน้าใหม่และผู้ที่สนใจมาลองศึกษาไปพร้อมกันครับ

วิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอลเบื้องต้น

สิ่งสำคัญในการใช้งานมิกเซอร์ดิจิตอลคือเราต้องรู้จักปุ่มต่างๆ และหน้าที่การทำงานของมันไม่ว่าจะเป็นภาคการเชื่อมต่อทั้งอินพุตและเอาต์พุต ภาคปรับแต่งเสียงและเอฟเฟ็กต์ต่างๆ เมื่อรู้จักดีแล้วจึงค่อยเริ่มฝึกปรับแต่งเสียง โดยมิกเซอร์ดิจิตอลทุกรุ่นจะมีหน้าจอ LCD แบบสีที่แสดงผลการปรับค่าทุกอย่างให้ดูซึ่งช่วยให้ผู้ควบคุมทำงานสะดวกมากขึ้น รวมถึงมีพรีเซ็ต EQ และเอฟเฟ็กต์มากมายให้ใช้งาน ผู้เริ่มต้นสามารถเรียนรู้จากพรีเซ็ตเหล่านี้แล้วค่อยๆ ปรับค่าให้เป็นไปตามที่ต้องการก็ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ Mercular.com จะแบ่งวิธีการใช้งานมิกเซอร์ดิจิตอลออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การเชื่อมต่อ การปรับแต่งเสียง และการบันทึกค่าการปรับแต่งเสียง


การเชื่อมต่อ


วิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอลขั้นแรกต้องทำการต่อสายสัญญาณขาเข้าจากอุปกรณ์ต่างๆ และต่อสายสัญญาณขาออกไปยังอุปกรณ์ปลายทางก่อนให้เรียบร้อย โดยจะแบ่งเป็นภาคอินพุตกับเอาต์พุต ดังนี้


ภาคอินพุต


ภาคอินพุตคือภาพรับสัญญาณขาเข้าจากอุปกรณ์ อาทิ ไมโครโฟน เครื่องดนตรีชิ้นต่างๆ เครื่องเล่นเพลเยอร์ชนิดต่างๆ เป็นต้น ช่องเสียบอินพุตในมิกเซอร์ดิจิตอลจะแยกออกเป็นแชนแนลโดยมีตั้งแค่ 4 แชนแนลถึงหลักหลายสิบแชนแนลแล้วแต่รุ่น ช่องต่อหลักๆ จะเป็น XLR กับ Phone TRS/TS แต่มิกเซอร์บางรุ่นก็มีช่องอินพุต RCA, Mini Jack 3.5mm และ Combo Jack (เสียบได้ทั้ง XLR และ Phone TRS /TS ในช่องเดียว) ให้เลือกใช้ การเสียบสายสัญญาณต้องเสียบให้ตรงกับชนิดของช่องเสียบโดยเริ่มเสียบที่แชนแนลที่ 1 ก่อนแล้วไล่ไปเรื่อยๆ ตามจำนวนอุปกรณ์ 


มิกเซอร์ดิจิตอลหลายรุ่นมีช่องเสียบอินพุตหลายแบบในหนึ่งแชนแนล ตัวอย่างเช่น แยกอินพุตเป็น MIC ช่องนี้เอาไว้ต่อกับไมโครโฟนโดยเฉพาะ และ LINE ช่องนี้เอาไว้ต่อกับเครื่องดนตรีหรือเครื่องเล่นต่างๆ ควรต่อให้ถูกกับชนิดของอุปกรณ์ ขณะที่บางรุ่นเป็นช่องอินพุตแบบ MIC/LINE หมายความว่าเสียบจากอุปกรณ์อะไรก็ได้ ไม่มีผลกับระดับสัญญาณ


นอกจากนี้ มิกเซอร์ดิจิตอลทุกรุ่นจะมีปุ่ม Phantom +48V ปุ่มนี้ทำหน้าที่จ่ายไฟให้กับไมโครโฟนชนิดคอนเดนเซอร์และอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ไฟเลี้ยง โดยไฟที่ออกมาจะเป็นไฟ DC ซึ่งมีแรงดันระหว่าง 12-48V ในมิกเซอร์บางรุ่นจะแยกปล่อยไฟได้อิสระตามแต่ละแชนแนลแต่บางรุ่นอาจจะเป็นปุ่มเดียวแล้วจ่ายไฟ 48V ไปให้ทุกแชนแนลแล้วแต่การออกแบบของผู้ผลิต


ภาคเอาต์พุต


เมื่อต่อสายอินพุตเรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อมาคือการต่อสายสัญญาณขาออกจากช่องเอาต์พุตส่งไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยช่องเสียบเอาต์พุตหลักๆ จะเป็นแบบ XLR กับ Phone TRS/TS เหมือนกับอินพุต การเชื่อมต่อแนะนำให้เริ่มต่อจากช่อง Output 1 ก่อน แล่วค่อยต่อไล่เรียง Output 2, 3, 4 … เป็นลำดับต่อไปเรื่อยๆ

การปรับสัญญาณขาเข้า


เมื่อต่ออินพุตและเอาต์พุตเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการปรับแต่งสัญญาณขาเข้าในแต่ละแชนแนล โดยในส่วนนี้จะมีปุ่มสำคัญที่ต้องรู้จัก ดังนี้


Gain ทำหน้าที่ปรับระดับความแรงของสัญญาณขาเข้า ปุ่มนี้จะมีในทุกแชนแนล มีตัวเลขบอกค่าความแรงสัญญาณหน่วยเป็นเดซิเบล การใช้งานไม่มีกฎตายตัวแต่ควรปรับความแรงของสัญญาณให้อยู่ในระดับเหมาะสม เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงทีดี และมีคุณภาพ


Phase ทำหน้าที่ปรับแก้ไขเฟสที่ไม่ถูกต้องให้คืนสัญญาณอยู่ในสภาพปกติ สังเกตุได้จากการฟังเสียง หากว่ามีเสียงในย่านความถี่ไหนหายไปหรือเบาลง สามารถกดปุ่มนี้แก้ไขเฟสให้เป็นปกติได้เลยโดยไม่มีผลกระทบต่อส่วนอื่น


Pad ทำหน้าที่ลดความแรงของสัญญาณขาเข้าลง –20dB ใช้ปุ่มนี้ก็ต่อเมื่อสัญญาณขาเข้ามีความแรงเกินกว่าที่แชนแนลนั้นจะรับได้เพื่อรักษาระดับก่อนสัญญาณเข้าสู่ขั้นตอนปรับ Gain มิกเซอร์บางยี่ห้ออาจใช้คำว่า MIC ATT (Microphone Attenuation) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกัน


Mute ทำหน้าที่หยุดการทำงานของแชนแนลนั้นชั่วคราว


Solo ทำหน้าที่ตัดสัญญาณในแต่ละแชนแนลออกมาเพื่อการฟังโดยอิสระ ผู้ควบคุมจะได้ยินเฉพาะช่องเสียงที่เรากดปุ่ม Solo อยู่เท่านั้น สามารถควบคุมระดับความดัง-เบาได้ด้วยปุ่ม Solo Level


เหล่านี้คือปุ่มควบคุมการปรับแต่งสัญญาณขาเข้าหลักๆ ที่มีในมิกเซอร์ดิจิตอลทุกตัว ปุ่มทั้งหมดเปรียบเสมือนการเตรียมสัญญาณให้พร้อมใช้ปรับแต่ง ผู้ควบคุมมิกเซอร์ต้องทำการปรับสัญญาณให้มีบาลาานซ์ที่เหมาะสมและควบคุมระดับสัญญาณให้มีความสมดุลก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปรับแต่งเสียงต่อไป

วิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอล input

การปรับแต่งเสียง


การปรับแต่งเสียงเป็นขั้นตอนสำคัญและเป็นหน้าที่หลักของมิกเซอร์ดิจิตอลทุกตัว ในขั้นตอนนี้มีการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อน มาทำความรู้จักปุ่มควบคุมต่างๆ ในขั้นตอนนี้กันครับ 


Low Pass–Filter ทำหน้าที่กรองย่านความถี่สูงที่ไม่ต้องการออก ให้เสียงความถี่ต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ผ่านได้ ส่วนใหญ่ใช้กับแชนแนลเสียงเครื่องดนตรีที่มีย่านเสียงต่ำ 


High Pass-Filter ทำหน้าที่กรองย่านความถี่ต่ำที่ไม่ต้องการออก ให้เสียงความถี่สูงกว่าค่าที่กำหนดไว้ผ่านได้ ส่วนมากใช้กับแชนแนลไมโครโฟนพูดและร้อง


EQ ทำหน้าที่ในการปรับแต่งเสียงหรือปรับโทนเสียงในแต่ละแชนแนลบนมิกเซอร์ มีให้เลือกปรับทั้งในแบบ Parametric EQ ที่เป็นการปรับแบบคร่าวๆ ตามย่าน Low, Mid, Hi และ Graphic EQ ที่เป็นการปรับค่าของความถี่แต่ละย่านแบบละเอียด นอกจากนี้ยังสามารถปรับความกว้างของช่วงความถี่เสียงและการปรับระดับความดัง-เบาของแต่ละย่านความถี่ได้อย่างอิสระตามต้องการ


EQ bypass ทำหน้าที่เปิดหรือปิดการใช้ EQ ในแต่ละแชนแนล ใช้สำหรับการฟังเปรียบเทียบระหว่างใช้และไม่ใช้ EQ 


Pan ทำหน้าที่ย้ายตำแหน่งเสียง ปรับน้ำหนักเสียง หรือการเทน้ำหนักเสียงให้ไปทางซ้ายหรือขวา 


Stereo Master Fader ทำหน้าที่เป็นตัวปรับความดัง-เบาของสัญญาณทั้งหมดบนมิกเซอร์ก่อนที่จะออกไปสู่เครื่องมือชนิดต่างๆ มีอยู่สองลักษณะคือแบบแถบเลื่อนและแบบหมุนแล้วแต่รุ่นและการออกแบบของผู้ผลิตมิกเซอร์


สำหรับวิธีการปรับแต่งเสียงบนมิกเซอร์จะมีหลักการคือปรับทีละแชนแนล เริ่มจากกดปุ่ม Select Channel แล้วใช้ knob หมุนเลือกแชนแนลที่ต้องการ จากนั้นหน้าจอ LCD ของมิกเซอร์จะบอกว่าเลือกแชนแนลใหนอยู่ กดปุ่ม EQ เข้าสู่เมนูการปรับแต่งเสียง ขั้นแรกให้ทำการตัดย่านเสียงที่ไม่ใช้ออกไป เช่น แชนแนลไมโครโฟนพูดก็อาจจะตัดย่าน Low ออกเพื่อป้องกันเสียงพึบพับหรือเสียงกระแทกตอนพูด ขั้นตอนต่อไปคือการปรับ EQ โดยเลือกได้ว่าจะปรับง่ายๆ ด้วยหมุนปุ่มควบคุมย่านเสียง Low, Mid, Hi หรือจะปรับแบบละเอียดตามย่านความถี่โดยการเลื่อน Fader ขึ้น-ลง สามารถเพิ่มหรือลดย่านความถี่ได้อิสระรวมถึงปรับช่วงความกว้างของแต่ละย่านความถี่ที่จะปรับได้ตามต้องการโดยจอ LCD จะแสดงกราฟการปรับให้เห็นอย่างละเอียด สำหรับมือใหม่ที่ยังปรับ EQ ไม่เก่งแนะนำว่าให้เลือกพรีเซ็ต EQ ที่มีในมิกเซอร์มาใช้ตั้งต้นแล้วค่อยๆ ปรับย่านความถี่ให้ได้เสียงตามที่ต้องการ

 

เมื่อทำในส่วนของ EQ เสร็จแล้ว ต่อมาคือส่วนของการจัดการสัญญาณโดยมีค่าที่จำเป็นต้องปรับได้แก่ Gate ทำหน้าที่เปิดหรือปิดกั้นสัญญาณรบกวนต่างๆ ไม่ให้เข้ามาในแชนแนล และ Compressor ทำหน้าที่จัดการไดนามิกของเสียงโดยกดระดับเสียงที่ดังลงมาได้และทำให้เสียงที่เบาได้ยินชัดเจนขึ้นเพื่อให้ทุกย่านความถี่มีระดับความดังเท่ากัน

 

จัดการสัญญาณเสร็จจะเข้าสู่ขั้นตอนการใส่เอฟเฟ็กต์ให้กับเสียงซึ่งเอฟเฟ็กต์ที่สำคัญและนิยมใช้ก็มี Delay นิยมใช้กับไมค์พูดหรือร้องให้มีหางเสียงตามหลัง, Reverb นิยมใช้กับทั้งไมค์ร้องและเครื่องดนตรีให้เสียงมีความสดและฉ่ำไม่แห้งกระด้าง วิธีใส่เอฟเฟ็กต์ทำได้โดยการกดเลือกแชนแนลเสียงก่อนจากนั้นกดเข้าเมนู Effect แล้วเลือกเอฟเฟ็กต์ที่จะใช้ ผู้ควบคุมสามารถปรับรายละเอียดเอฟเฟ็กต์ที่เลือกด้วยการเลื่อน Fader ขึ้น-ลงหรือบิดปุ่มควบคุมได้ละเอียดตามต้องการ

วิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอล fader

การปรับสัญญาณเอาต์พุต

 

เมื่อสัญญาณเสียงผ่านการปรับแต่งและใส่เอฟเฟ็กต์มาเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือการปรับสัญญาณเอาต์พุต หรือการเตรียมสัญญาณสำหรับส่งออกไปยังอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ อาทิ ภาคบันทึกเสียง, ลำโพง PA, ลำโพงมอนิเตอร์, เอียร์มอนิเตอร์ของนักร้อง/นักดนตรี เป็นต้น การปรับสัญญาณเอาต์พุตมีส่วนที่ใช้บ่อยดังนี้


Auxiliary เรียกย่อว่า Aux send ทำหน้าที่จ่ายสัญญาณในแต่ละแชนแนลไปยังอุปกรณ์ปรับแต่งเสียงอื่นๆ ส่วนมากจะส่งไปยังมอนิเตอร์หน้าเวทีและส่งไปเข้าเอฟเฟ็กต์ภายนอก ควบคุมความดัง-เบาของสัญญาณผ่านปุ่ม Auxiliary send masters 


Effect Send เป็นช่องสัญญาณออกมาจากตัวมิกเซอร์ไปสู่เครื่องเอฟเฟ็กต์ภายนอกต่างๆ เช่น Reverb หรือ Delay ซึ่งมักใช้ปุ่ม Aux เป็นตัวส่งสัญญาณ


Effect Return เป็นช่องสำหรับรับสัญญาณที่ถูกป้อนมาจากเครื่องเอฟเฟ็กต์ภายนอก


Studio Level ทำหน้าที่ควบคุมความดัง-เบาของเสียงที่ออกจากมิกเซอร์เพื่อส่งเข้าไปยังภาคบันทึกเสียงหรือห้องสตูดิโอ


Control Room Level ทำหน้าที่ควบคุมความดัง-เบาของเสียงที่ได้ทั้งหมดจากมิกเซอร์สำหรับส่งไปยังห้องควบคุมเสียง (control room)


Talk Back ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกันระหว่างผู้ควบคุมมิกเซอร์กับห้องบันทึกเสียงหรือนักดนตรีบนเวที มิกเซอร์บางรุ่นจะมีไมโครโฟนเล็กๆ สำหรับพูดสื่อสารได้โดยตรง แต่บางรุ่นจะเป็นช่องเสียบ 6.3mm สำหรับต่อไมค์


Headphone Control ทำหน้าที่จ่ายสัญญาณจากมิกเซอร์ไปให้หูฟังมอนิเตอร์ของผู้ควบคุมสำหรับฟังเสียงที่มิกซ์แบบเรียลไทม์ มีปุ่ม Level ควบคุมระดับความดังตามต้องการ


เหล่านี้คือส่วนการปรับสัญญาณเอาต์พุตที่มีในมิกเซอร์ดิจิตอล ขั้นตอนนี้สามารถเลือกส่งออกสัญญาณได้ทั้งแบบบางแชนแนล หรือกรุ๊ปรวมหลายแชนแนลก่อนส่งออกไปพร้อมกันได้โดยใช้ปุ่ม Group หรือ Bus และควบคุมระดับความดัง-เบาด้วยปุ่ม Group or Buss Out Faders สิ่งสำคัญคือการรักษาระดับสัญญาณให้มีความเสถียรและมีบาลานซ์ที่ดีเพื่อให้ผู้ฟังได้ยินเสียงที่มีรายละเอียดถูกต้องและมีคุณภาพดี

วิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอล output signal adjustable

บันทึกค่าการปรับแต่งเสียง


มิกเซอร์ดิจิตอลทุกรุ่นสามารถบันทึกค่าการปรับแต่งเสียงหรือการ save scene เก็บไว้ได้ โดยบันทึกได้ทั้งการปรับแต่ง EQ ต่างๆ การปรับเอฟเฟ็กต์ รวมถึงค่าสัญญาณอินพุต/เอาต์พุตต่างๆ สามารถตั้งชื่อสิ่งที่บันทึก จัดเก็บ และเปิดใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดปัญหาความวุ่นวายต่างๆ เช่น ต้องมิกซ์เสียงให้กับวงดนตรีหลายวง หรือการแสดงหลายการแสดง วิธีบันทึกเริ่มจากไปที่เมนู Scene เลื่อน knob หา slot ที่ว่างจากนั้นกด Store ตั้งชื่อ scene แล้วกด Yes เพียงเท่านี้เราก็สามารถบันทึก scene ที่ทำการปรับแต่งเรียบร้อย เพื่อนำการปรับแต่งนั้นกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

วิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอล save preset

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีใช้มิกเซอร์ดิจิตอลเบื้องต้นที่มือมิกซ์หน้าใหม่ทุกคนต้องรู้จักและเข้าใจ มิกเซอร์แต่ละแบรนด์อาจมีรายละเอียดการใช้งานหรือชื่อปุ่มแตกต่างกันไปแต่หลักการทำงานโดยรวมจะคล้ายกัน ขั้นตอนการควบคุมหรือการทำงานต่างๆ จะเหมือนกัน ที่สำคัญคือผู้ใช้งานหน้าใหม่ต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่อง audio พร้อมกับต้องหมุ่นเรียนรู้ ศึกษา ทำความเข้าใจ และฝึกใช้งานมิกเซอร์ดิจิตอลที่มีให้คล่องก่อนที่จะออกงานจริง แม้จะดูยาก ดูเยอะ ดูซับซ้อน แต่ไม่มีอะไรต้องกังวลหากเรารู้จักตัวอุปกรณ์ดีครับ


สำหรับวันนี้ Mercular.com ต้องขอตัวลาไปก่อน พบกับบทความ Tips & Tricks ดีๆ แบบนี้ได้ที่เว็บไซต์ของเรา สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

article-banner-1
article-banner-2