8 สัญญาณอันตรายที่ควรเปลี่ยนหูฟัง
15 ม.ค. 2561
เคยไหมครับ? จู่ๆหูฟังก็พังแล้วจากเราไปอย่างไม่มีวันกลับมา ทำให้วันนั้นทั้งวันจากเดิมที่เคยสดใส กลายเป็นเงียบเหงาปราศจากเสียงเพลงที่คุ้นเคย ซึ่งบทความตอนนี้เราจะมาพูดถึง สัญญาณต่างๆที่เกิดขึ้นอันเป็นสาเหตุทำให้หูฟังพัง ซึ่งเราสามารถรับมือได้ล่วงหน้า โดยการส่งเคลมเข้าศูนย์ไทยเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด หรือถ้าหมดประกัน เราก็เตรียมซื้อใหม่ได้ในทันที โดยที่ไม่ต้องปล่อยให้เงียบเหงาอีกต่อไปนั่นเอง ว่าแต่จะมีเรื่องใดบ้าง บทความนี้ Mercular.com จะพามาชมกันเลยครับ
1. ปลายเสียงแตกพร่า ไม่ใสสะอาด
หากคุณกำลังฟังเพลงเพลินๆ อยู่แล้วรู้สึกตะงิดๆใจ ถึงเสียงที่เหมือนจะมี Noise อยู่ปลายๆ อย่านิ่งนอนใจ เพราะนั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงไดร์เวอร์ หรือ แผ่นไดอะเฟรม ที่กำลังจะเสียหาร หรือชำรุด ซึ่งสาเหตุหลักๆมักจะมาจากการเปิดเพลงเสียงดังมากจนเกินไปเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหูฟังใหม่แกะกล่อง กรณีที่เบิร์นหูฟังไม่ถูกวิธีด้วยเช่นกัน ถ้าเกิดอาการนี้ขึ้นควรลองเช็คไฟล์เพลงว่ามีปัญหาหรือไม่ หากฟังจากวิทยุ อาจจะเกิดสัญญาณที่ไม่เสถียร แต่ถ้าทุกอย่างปกติดี นั่นเท่ากับว่าหูฟังของคุณ กำลังจะมีปัญหาแล้วนั่นเอง
2. เสียงออกข้างเดียว
อีกหนึ่งอาการที่มั่นใจได้เลยว่าต้องเปลี่ยนหูฟังแน่ๆ คือเสียงออกข้างเดียว! อาการนี้เกิดจากการที่ภายใน Housing / Earcup เกิดความเสียหายไม่ว่าจะเป็นตัวไดร์เวอร์เอง หรือแผ่นไดอะเฟรม รวมถึงสายที่อาจชำรุดบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของหูฟัง อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุทั้งการทำหูฟังหล่นกระแทกพื้น หรือเกี่ยวไปโดนสิ่งของต่างๆ ทำให้เกิดการกระชากของสาย และอีกสาเหตุหนึ่งคงหนีไม่พ้นการที่ทำหูฟังตกน้ำนั่นเอง (บางท่านเล่าว่าทำตกคอห่าน เลยใช้ไดร์เป่าผม เป่าให้แห้ง จากนั้นใช้งานเสียงดับไปข้างนึงเลย)
3. เสียงขาดๆ หายๆ ขณะใช้งาน
ถ้ากำลังฟังเพลงเพลินๆอยู่แล้วเสียงเพลงมีอาการขาดๆ หายๆ ขยับสายทีนึงเสียงก็กลับเป็นปกติ ตรงนี้เป็นสัญญาณเกี่ยวกับชั้วสาย ที่มีอาการขาดใน มักเกิดขึ้นบริเวณขั้วต่อปลายสาย หรือจุดที่มีการเชื่อมกับปุ่มควบคุม(ไมโครโฟน) รวมถึงต้นขั้วที่เชื่อมต่อกับตัวหูฟังด้วยเช่นกัน สาเหตุหลักๆ มักเกิดขึ้นจากการเก็บสายหูฟังไม่ถูกต้อง หรือเกิดการกระชากสายนั่นเอง อ่านเพิ่มเติมในส่วนของเทคนิคการดูแลหูฟังได้ที่นี่
4. หูฟัง เสียงซ้าย-ขวา ดังไม่เท่ากัน
สำหรับเคสนี้อาจจะสังเกตได้ค่อนข้างยากหน่อย โดยอาการที่เกิดขึ้นคือการที่เสียงเพลงทั้งสองข้างดังออกมาไม่เท่ากัน คือมีข้างใดข้างหนึ่งที่เบากว่า อาจเกิดจากการที่ไดร์เวอร์ ชำรุด ทำให้ไม่สามารถส่งกำลังเสียงออกมาได้ปกติ หรือแผ่นกระบังลมเสียหาย ทำให้อัดลมเข้าไปไม่ถึง 100% ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยการฟังที่ค่อนข้างละเอียดหน่อย เนื่องจากบางครั้งเสียงที่ดังไม่เท่ากัน อาจมาจากต้นฉบับนั่นเองครับ
5. Housing ของหูฟังแตกออกมา
ในส่วนของ Housing สำหรับมือใหม่หลายๆคนอาจจะไม่รู้ว่า เอ้ะ! มันคือส่วนไหนของหูฟัง ซึ่งเจ้า Housing ที่ว่านี้คือบริเวณตัวหูฟังกลมๆ โดยถ้าแปลตามตัว Housing ก็คือบ้าน นั่นหมายถึงส่วนที่ปกคลุมองค์ประกอบภายในของหูฟังนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเกิดการกระแทก จนแตกออกมาจะส่งผลถึงชิ้นส่วนด้านในแน่นอน อาจทำให้เสียงที่ได้ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นหลีกเลี่ยงการกระแทก หรือทำตกพื้นจะดีที่สุดครับ
6. บริเวณก้านหูฟัง หนังลอก
อีกหนึ่งปัญหาหลักๆ สำหรับคนที่ใช้หูฟัง Headphone ทั้งแบบแนบหูและครอบหู หากมีวัสดุที่เป็นหนังบริเวณก้านหูฟัง หรือ Headband ละก็ต้องดูแลรักษาให้ดีเลยละครับ ส่วนใหญ่ที่มักหลุดลอกกันมักเกิดจากอายุการใช้งานที่ค่อนข้างนาน รวมไปถึงการเก็บรักษาครับ หากเก็บในห้องที่มีอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม มีความร้อนหรือความชื้นสูงเกินไป ก็ทำให้ตัวหนังเสียหายได้นั่นเองครับ
7. ปุ่มควบคุมการเล่นเพลงเสียหาย
ข้อนี้อาจไม่ใช่สาเหตุสำคัญในการเปลี่ยนหูฟัง แต่บางครั้งอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรำคาญใจก็เป็นได้ครับ เพราะการที่ปุ่มควบคุมการเล่นเพลงเสียหาย ส่งผลให้เราไม่สามารถปรับลดหรือเพิ่มเสียง รวมไปถึงการเปลี่ยนเพลงได้อย่างสะดวก ในบางครั้งอาจทำให้ไมโครโฟนเสียหายด้วยนั่นเอง ส่วนใหญ่มักเป็นไปตามอายุการใช้งาน หรือกดแรงจนเกินไปทำให้ปุ่มเสียหายครับ ในส่วนของการซ่อมแซมเราสามารถเปลี่ยนสายใหม่ (แต่เสียงจะไม่เหมือนเดิม) ได้นั่นเอง
8. ใช้งานแล้วเจ็บหู หรือ บีบศีรษะมากเกินไป
ปิดท้ายด้วยรูปลักษณ์ของหูฟังที่ไม่สอดคล้องกับสรีระร่างกาย บางท่านใส่หูฟังแล้วเกิดอาการเจ็บหู หรือบีบศีรษะ อาจไม่ใช่เหตุผลหลักในการเปลี่ยนหูฟัง แต่จะส่งผลถึงร่างกายได้ในระยะยาวครับ ทางแก้ในเบื้องต้นสำหรับหูฟัง In-Ear อาจเป็นในเรื่องของการเปลี่ยนจุกหูฟังให้ฟิตพอดีหู ส่วน Headphone นั้น สามารถนำแท่นวางหูฟังมาถ่างหูฟังออกได้ เพื่อให้ก้านหูฟังขยายออก และควรเริ่มใส่ฟังเพลงในระยะเวลาสั้นๆก่อน สลับกับการถอดออกเพื่อให้เกิดความเคยชินนั่นเอง