วิธีเลือกซื้อ Cooling System ให้เครื่องเย็นสุดขั้ว

23 พ.ย. 2566

วิธีเลือกซื้อ Cooling System ให้เครื่องเย็นสุดขั้ว

เพราะเรื่องปัญหาความร้อนภายในคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม การขาดระบบระบายความร้อนที่เหมาะสมกับการใช้งานจะทำให้ความร้อนสะสมภายในคอมพิวเตอร์และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้งานระยะยาวได้ วันนี้พวกเรา Mercular.com จะมาแนะนำแนวทาง วิธีเลือกซื้อ Cooling System ให้เครื่องเย็นสุดขั้ว ที่จะมาอธิบายถึงความจำเป็นของระบบระบายความร้อนและหลักการทำงานของระบบระบายความร้อนทั้งสองแบบ ใครที่กำลังอยากจัดสเปกคอมเครื่องใหม่อยู่แล้วไม่รู้จะต้องมีระบบระบายความร้อนไหมและต้องดูอะไรบ้าง ก็มาฟังคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยครับ

ทำไมต้องมีระบบระบายความร้อน


เนื่องจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในเคสคอมพิวเตอร์นั้นสามารถผลิตความร้อนออกมาได้สูงมาก ๆ ขณะใช้งาน ยิ่งในสมัยนี้ที่ซีพียูแต่ละตัวมีคอร์ประมวลผลมากขึ้น กินกำลังไฟมากขึ้น ความร้อนที่ส่งออกมาก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน และเมื่อเกิดความร้อนที่มากเกินไปเนี่ย จะส่งผลกับประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ทั้งซีพียู การ์ดจอหรือเมนบอร์ด โดยตรง เริ่มสะสมความร้อนและช้าลงจนไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม อายุการใช้งานน้อยลงและอาจจะพังลงในที่สุด ดังนั้นการมีระบบระบายความร้อนก็เพื่อระบายความร้อนออกไปจากตัวเครื่อง ช่วยลดการสะสมความร้อนภายในอุปกรณ์ ให้ฮาร์ดแวร์ของเราใช้งานเต็มประสิทธิภาพได้ต่อเนื่องกว่าเดิม แม้เจ้าระบบระบายความร้อนนี้จะไม่ช่วยให้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ช่วยไม่ให้ประสิทธิภาพลดลงนั่นเอง 

Cooling system Fin

วิธีเลือกซื้อระบบระบายความร้อน Cooling System

ในการเลือกซื้อระบบระบายความร้อนสำหรับคอมพิวเตอร์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงจะมีด้วยกันหลัก ๆ ทั้งหมด 2 อย่างคือ พื้นที่ติดตั้งภายในเคสที่มีอยู่และประเภทของระบบระบายความร้อนที่เราจะใช้ เพราะขนาดของเคสจะเป็นตัวกำหนดประเภทของระบบระบายความร้อนที่สามารถติดตั้งลงไปได้ ส่วนระบบระบายความร้อนนั้นก็มีหลายประเภทที่สามารถเลือกติดตั้งได้ตามลักษณะของการใช้งาน


พื้นที่ติดตั้งภายในเคส


ก่อนที่เราจะไปดูถึงประเภทของระบบระบายความร้อนกัน เราควรเริ่มต้นกันที่เคสที่ใช้งานอยู่ตอนนี้ว่ามีขนาดเท่าไหร่และรองรับระบบระบายความร้อนแบบไหนบ้าง เพราะ Heatsink มีขนาดที่หลากหลายและกินพื้นที่ในการติดตั้งที่ไม่เท่ากัน ซึ่งเราจะสามารถดูข้อมูลเหล่านี้ได้ในคู่มือหรือเว็บไซต์ของเคสที่เราซื้อมา โดยภายในสเปกจะบอกว่ารองรับ Radiator (หม้อน้ำสำหรับชุดน้ำ) หรือ Fan Capacity (ขนาดพัดลม) ขนาดเท่าไหร่บ้าง ติดตั้งได้ด้านละกี่ชิ้น และสามารถติดตั้งได้ตรงส่วนไหนของเคสได้บ้าง โดยจะมีทั้งหมด 3 ด้านได้แก่ ด้านบน (Top) ด้านหน้า (Front) และด้านหลัง (Rear) ซึ่งเคสแต่ละขนาดก็จะมีพื้นที่สำหรับติดตั้งมากน้อยต่างกันไป ควรติดตั้งระบบระบายความร้อนตามขนาดที่เคสรองรับเพื่อให้ระบายความร้อนได้อย่างถูกวิธี ลมพัดไม่มั่วและน้ำไม่รั่วนะครับ

Cooling System Radiator
Cooling System Fan

ประเภทของระบบระบายความร้อน


โดยประเภทของระบบระบายความร้อนที่ใช้กันอยู่ในคอมพิวเตอร์นั้นจะถูกแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือการระบายความร้อนด้วยลม และการระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งสำหรับการระบายความร้อนด้วยน้ำจะแบ่งย่อยเพิ่มเติมได้อีก 2 ประเภทคือแบบปิดและแบบเปิด ที่แม้จะใช้น้ำในการระบายความร้อนเหมือนกันแต่มีรายละเอียดการใช้งานที่แตกต่างกันมาก ๆ 


Heatsink ระบายความร้อนด้วยลม


ในส่วนของ Heatsink หรือตัวระบายความร้อนด้วยลม โดดเด่นด้วยราคาที่ถูก ติดตั้งง่าย ดูแลรักษาสบาย ๆ แค่เช็ดทำความสะอาด โดยมีหน้าตาเป็นพัดลมที่ติดตั้งอยู่บนฟินระบายความร้อน โดยหลักการทำงานของ Heatsink คือการเอาโลหะนำความร้อน อย่าง ทองแดงหรืออะลูมิเนียม ไปประกบกับซีพียู โดยต้องมีซิลิโคนที่เป็นของเหลวสำหรับนำส่งความร้อนทาที่ซีพียู ก่อนที่จะส่งต่อขึ้นไปให้พัดลมทำการระบายความร้อนออกไป โดย Heatsink นั้นมีหลายขนาด ยิ่งพัดลมใบใหญ่ก็ยิ่งระบายอากาศได้ดีแต่ก็กินพื้นที่ในการติดตั้งด้วย โดยจะมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ตามความสามารถในการระบายอากาศ ขนาดของพัดลมและไฟ RGB สำหรับการตกแต่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับคอมยุคนี้

Cooling system Heatsink

Liquid Cooling ระบายความร้อนด้วยน้ำ


สำหรับ Liquid Cooling ระบบระบายความร้อนที่เป็นกระแสฮิตกันจากความสวยงามที่เพิ่มให้กับคอมพิวเตอร์ของเรา โดนใจสายแต่งคอมทุกประเภท การระบายความร้อนด้วยน้ำนั้นถูกออกแบบมาเพื่อระบายความร้อนของซีพียูหรือการ์ดจอโดยตรง จัดการความร้อนได้ดีกว่าการระบายความร้อนแบบลมมาก และที่สำคัญคือเสียงเงียบกริ้บ ไม่ว่าจะใช้งานหนักแค่ไหน แต่มีราคาที่สูงขึ้นและต้องดูแลมากกว่า สำหรับแบรนด์เด่น ๆ ในเรื่องการจัดจำหน่ายชิ้นส่วนชุดน้ำจะมี NZXT, Cooler Master, Thermaltake, Corsair, Deep Cool เป็นต้น โดยระบายความร้อนผ่าน ของเหลวหล่อเย็น (Coolant) ที่จะไหลนำความร้อนไปสู่หม้อน้ำ (Radiator) จากนั้นใช้พัดลมในการเป่าระบายความร้อนออกไป ก่อนจะส่งของเหลวพวกนั้นไหลเวียนกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง โดยระบบระบายความร้อนด้วยน้ำนั้นจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ แบบปิด และ แบบเปิด


  • ระบายความร้อนด้วยน้ำแบบปิด : สำหรับแบบปิดจะหมายถึงชุดน้ำที่ทำสำเร็จรูปมาแล้ว พร้อมประกอบและใช้งานได้ทันที มีทุกอย่างให้แล้วทั้ง สายยาง, หม้อน้ำและปั้มน้ำ รวมถึงของเหลวหล่อเย็น ที่เราต้องทำคือประกอบเข้ากับเมนบอร์ดของเราและดูแลทำความสะอาดเบื้องต้นเพียงเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้
  • ระบายความร้อนด้วยน้ำแบบเปิด : ในส่วนของแบบเปิดจะหมายถึงชุดน้ำที่เราสามารถปรับแต่งเองได้อย่างอิสระ จะเชื่อมท่อระบายความร้อนทั้งเครื่องก็ยังได้ สามารถจัดแต่งหน้าตาและดีไซน์ได้อย่างอิสระ เปลี่ยนชิ้นส่วนได้หมดตั้งแต่ สีและประเภทของคูลแลนท์ ปั้มน้ำ ตัวบล็อกน้ำ รวมถึงดีไซน์ของท่อและถังพักน้ำไว้โชว์ แต่ชุดน้ำเปิดจะมีราคาที่สูงและต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งเพราะหากติดตั้งผิดพลาด มีการรั่วซึมเกิดขึ้น จะสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์ของเราอย่างมาก
Cooling system Liquid

ในการเลือกซื้อระบบระบายความร้อนสำหรับคอมพิวเตอร์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องดูลักษณะการใช้งานและความต้องการของเราเป็นหลัก โดยปกติแล้วถ้าไม่ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์หนักอะไร เพียงแค่ใช้พิมพ์งานและเล่นเกมไม่กินสเปก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน แค่ Heatsink ที่มาพร้อมกับตัวซีพียูและซิลิโคนระบายความร้อนก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับใครที่ใช้ทำงานเฉพาะทาง เช่น เรนเดอร์วิดีโอ สร้างภาพสามมิติโหด ๆ เล่นเกมตลอดทั้งวัน หรือต้องการเติมแสงสีให้ตัวเคสซีพียู ก็บอกเลยว่าระบบระบายความร้อนเสริมจำเป็นต้องมีครับ

best-seller-ads
article-banner-1
article-banner-2