วิธีเลือกซื้อหูฟังมอนิเตอร์
27 ต.ค. 2566
สำหรับ หูฟังมอนิเตอร์ หลัก ๆ แล้วหูฟังมอนิเตอร์ก็คือหูฟังที่ถูกใช้อยู่ใน Studio สำหรับงานมิกซ์เสียงหรือใช้ในงานคอนเสิร์ตเป็นหลัก ทั้งคอนเสิร์ตกลางแจ้งและคอนเสิร์ตใน Hall โดยหลักการทำงานหรือหลักการใช้งานนั้นจะแตกต่างจาก หูฟังสำหรับฟังเพลงปกติเล็กน้อยด้วยแนวเสียงโทน Flat หรือทุกย่านเสียงเป็นกลางเท่ากันทั้งหมดด้วยจุดประสงค์หลักของ หูฟังมอนิเตอร์ ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ตรวจสอบความแม่นยำของเสียงว่ามีเสียงย่านไหนที่โดดเด่นจนเกินไปหรือไม่ทำให้การเน้นย่านใดเป็นพิเศษของหูฟังมอนิเตอร์เมื่อนำมาปรับจูนมาสเตอร์เสียงก็จะทำให้เสียงที่ได้นั้นไม่แม่นยำ เมื่อนำมาใช้ฟังกับ หูฟังที่ใช้ฟังเพลงปกติทั่วไปซึ่งถูกปรับจูนแนวเสียงบางย่านให้โดดเด่นมากกว่าปกติเพื่อทำให้ผู้ใช้งานสามารถฟังเพลงได้อย่างสนุกและให้ความรู้สึกว่าเสียงที่ได้นั้นมีความไพเราะมากกว่าปกติ รวมถึงเป็นคาแรคเตอร์แนวเสียงของแบรนด์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ก็จะให้เสียงที่ได้นั้นผิดเพี้ยนไปอย่างมากนั่นเอง โดยในบรรดา หูฟังมอนิเตอร์ ที่มีให้เลือกมากมายหลากหลายรุ่นนั้นการจะได้หูฟังที่ตอบโจทย์และคุ้มค่ามากที่สุดจึงมีขั้นตอนในการเลือกซื้อที่แตกต่างจากหูฟังทั่ว ๆ ไป และมี วิธีเลือกซื้อหูฟังมอนิเตอร์ ดังนี้
1. เลือกจากประเภทหูฟังมอนิเตอร์
ก่อนอื่นก่อนใดการจะเลือกซื้อหูฟังมอนิเตอร์ให้เหมาะกับการใช้งานมากที่สุดสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือเรื่องของประเภทหูฟังมอนิเตอร์ เพราะในปัจจุบันมีหูฟังมอนิเตอร์หลายประเภทให้ได้เลือกซื้อเพื่อตอบโจทย์ทั้งการใช้งานและการสวมใส่มากที่สุด โดยมีประเภทของหูฟังดังนี้
- In-Ear Monitor : หรือก็คือหูฟังมอนิเตอร์ที่ใช้การสวมใส่แบบสอดหู In-Ear โดยจะสวมใส่แบบหูฟัง In-Ear ทั่ว ๆ ไปและมักจะถูกออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ ทำให้สวมใส่ได้ง่าย สบาย และกระชับหู โดยส่วนมาจะเป็นการสวมใส่แบบคว่ำและพาดสายไปด้านหลังหู ซึ่งมีข้อดีตรงที่นอกจากจะสวมใส่ได้กระชับ และแน่นหูแล้วยังช่วยยึดหูฟังให้ไม่เคลื่อนหลุดจากใบหู แม้จะขยับหรือเคลื่อนไหวไปมาได้อีกด้วย โดยส่วนใหญ่ หูฟังมอนิเตอร์แบบ In-Ear จะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้งานประเภทนักร้อง นักดนตรีที่ต้องขึ้นแสดงบนเวที ซึ่งจำเป็นต้องฟังเสียงของตนเองประกอบการแสดงไปด้วย และโดยปกติจะไม่สามารถได้ยินเสียงของตนเองทั้งหมดจากหน้าเวทีนั่นเอง โดยจุดเด่นคือขนาดที่ไม่ใหญ่มาก จึงทำให้ไม่โดดเด่น เกิดความรำคาญ หรือทำให้รู้สึกเกะกะ ระคายหู
- Custom In-Ear Monitor : เป็นหูฟังมอนิเตอร์สวมใส่แบบสอดหูแบบเดียวกับหูฟัง In-Ear โดยจุดที่โดดเด่นกว่าคือหูฟังประเภทนี้จะถูกหล่อขึ้นมาตามช่องหูของผู้ใช้หรือก็คือสั่งทำเป็นพิเศษ ตัวหูฟังจะมีรูปร่างแบบเดียวกับช่องหูของเจ้าของหูฟัง ทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถนำไปสวมใส่ได้ หรืออาจจะใส่ได้แต่ไม่สบายหู เมื่อหล่อขึ้นรูปแล้วสามารถเลือกใส่ไดรเวอร์ภายในได้ตามต้องการว่าต้องการไดรเวอร์กี่ตัว ใส่บริเวณไหน รวมถึงตกแต่งให้สวยงามเป็นเอกลักษณ์ตามแต่ที่ผู้สวมใสชอบได้อย่างอิสระ โดยจุดเด่นคือหูฟังมอนิเตอร์ประเภทนี้จะสวมใส่ได้สบายหูมากๆ และมักจะได้รับความนิยมในนักร้องนักดนตรีมืออาชีพ เนื่องจากหูฟังประเภทนี้จะมีราคาที่สูงมาก รวมถึงมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไปตามการสั่งผลิต
- Headphone Monitor : หูฟังมอนิเตอร์สวมใส่แบบคาดศีรษะแบ่งออกเป็น หูฟังมอนิเตอร์ Over Ear และ หูฟังมอนิเตอร์ On Ear โดยการใช้งานก็เป็นแบบเดียวกับ In Ear Monitor ในการใช้งานเพื่อตรวจเช็คความแม่นยำของเสียง พร้อมแนวเสียงแบบ Flat ที่ไม่โดดเด่นไปทางย่านใดย่านหนึ่ง และด้วยการสวมใส่ที่ต้องครอบไปทั้งหูรวมถึงขนาดที่มีขนาดใหญ่ ทำให้หูฟังมอนิเตอร์ประเภทนี้เหมาะกับการใช้งานใน Studio มากกว่าจะใส่ขึ้นไปบนเวที แต่ก็สามารถใส่บนเวทีหรือในงานแสดงต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน ด้านข้อดีคือด้วยขนาดที่ใหญ่ ทำให้ด้านสเปกภายในนั้นใส่ไดรเวอร์ที่มีขนาดใหญ่ได้ซึ่งทำให้เสียงที่นั้นดังครบถ้วนทุกรายละเอียดรวมถึงมีความแม่นยำสูงเหมาะกับการใช้งานสำหรับมิกซ์เสียง
2. เลือกจากรูปแบบของหูฟัง
นอกจากประเภทของหูฟังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วในส่วนของหูฟังประเภท Headphone Monitor ยังแบ่งรูปแบบออกไปได้อีก 2 ประเภทที่แต่ละประเภทก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไปประกอบไปด้วย
- หูฟังแบบ Open Back : ในส่วนของหูฟัง Headphone แบบ Open Back หรือหูฟังแบบเปิด ในส่วนของการออกแบบบริเวณด้านนอกจะทำจากวัสดุที่มีความโปร่ง อากาศสามารถลอดเข้าออกได้อย่างสะดวก รวมถึงส่วนของเสียงก็ยังสามารถลอดออกมาได้ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ฟังเพลงหรือฟังเสียงก็จะมีเสียงลอดออกมา ซึ่งส่งผลต่อเรื่องของ Sound Stage ที่มีความกว้างกว่าหูฟังประเภทอื่น ๆ ไม่ออกไปในทางเสียงทึบ
- หูฟังแบบ Close Back : ในส่วนของหูฟัง Headphone แบบ Close Back หรือหูฟังแบบปิดส่วนของวัสดุด้านข้างจะทำจากวัสดุทึบที่อากาศไม่สามารถลอดเข้าออกได้รวมถึงเสียงก็จะไม่ลอดออกมาด้วยเช่นกันกัน ซึ่งข้อดีคือทำให้เสียงที่ได้นั้นสามารถรับรู้ถึงรายละเอียดเสียงทั้งหมดได้อย่างครบถ้วน และเสียงเบสนั้นมีความหนักแน่นมากกว่าให้ความรู้สึกตุบตับมากกว่า
ในการใช้งาน Monitor เสียงควรเลือกแบบ Close Back เพราะด้วยแนวเสียงที่ได้ทำให้เหมาะสมกับการนำมาใช้อัดเสียง มิกซ์เสียง และมาสเตอร์เสียง รวมถึงเหมาะกับมือใหม่มากที่สุด
3. เลือกจากจุดประสงค์การใช้งาน
นอกจะเลือกจากประเภทและรูปแบบของหูฟังแล้ว การเลือกจากจุดประสงค์การใช้งานก็เป็นอีกข้อที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะตามที่กล่าวไปข้างต้น หูฟังมอนิเตอร์ นั้นออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่เฉพาะทาง ในการใช้งานด้านทั่ว ๆ ไปก็อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนักกับผู้ใช้งานบางคน แต่ก็สำหรับผู้ใช้งานบางคนด้วยความชื่นชอบส่วนตัวก็อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าหูฟังทั่ว ๆ ไปก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่ค่อนข้างเด่นชัดมากในเรื่องของความแตกต่างระหว่าง หูฟังมอนิเตอร์และหูฟังทั่วไป คือเรื่องของคาแรคเตอร์เสียงเพราะหูฟังมอนิเตอร์จะเก็บรายละเอียดเสียงได้ดีกว่า ใช้งานสำหรับฟังเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิดได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ แนวเสียงจะไปในแนวทาง Flat ไม่ถูกปรับแต่งทำให้สามารถฟังเสียงในย่านที่ฟังยากหรือไม่สามารถฟังได้ในหูฟังทั่ว ๆ ไป ทำให้เหมาะกับนักร้อง นักดนตรี และนักทำเพลงหรือผู้ที่ทำงานใน Studio แต่สำหรับผู้ฟังที่ชอบแนวเสียงแบบ Flat ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งก็ใช้สามารถใช้งานเพื่อฟังเพลงทั่ว ๆ ไปได้เช่นกัน สำหรับคนทั่วไปที่ชินกับหูฟังที่ถูกปรับแต่งมาแล้วการหันมาฟังหูฟังมอนิเตอร์อาจจะทำให้ไม่รู้สึกสนุกหรือเสียงเพลงที่เคยฟังอาจจะไม่ไพเราะเท่าที่เคย
4. เลือกจาก Ohm ของเสียง
อีกวิธีในการเลือกซื้อหูฟังมอนิเตอร์และเป็นอีกข้อที่มีความสำคัญโดยเป็นการตัดสินจากสเปกนั่นก็คือ การเลือกจากค่า Ohm หรือที่เรียกว่า Impedance ซึ่งก็คือคือค่าความต้านทานเสียงของหูฟัง ผู้ใช้งานควรที่จะเลือกค่า Ohm ให้มีความเหมาะสมกับแรงขับเสียงของแหล่งกำเนิดเสียง เครื่องเล่นเพลง เครื่องมิกซ์เสียง หรือ Sound Card ที่ใช้งาน เป็นต้น เช่น ในหูฟังรุ่นเดียวกันที่เป็นหูฟังมอนิเตอร์บางแบรนด์จะมีค่าความต้นทานเสียงหรือโอห์มให้เลือกซื้อแตกต่างกันเพื่อตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด ดังนี้
- 32 Ohm : เหมาะกับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก เช่น Smartphone Tablet เป็นต้น
- 80 – 250 Ohm : เหมาะกับอุปกรณ์ขนาดกลาง เช่น Audio Interface ระดับปานกลางไม่ใหญ่มากถึงระดับ Studio ใหญ่ เช่น การทำเพลงภายในบ้านหรือมือสมัครเล่น
- 250 – 600 Ohm : เหมาะกับอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น Audio Interface ระดับมืออาชีพที่ปกติจะถูกใช้ใน Studio อัดเสียง มิกซ์เสียง และมาสเตอร์เสียง เป็นต้น
ถ้าผู้ใช้งานเลือกความต้านทานเสียงหรือค่า Ohm ของหูฟังไม่เหมาะสมกับแหล่งขับเสียง จะส่งผลให้เกิดอาการสองแบบ อย่างแรกคือเสียงอาจจะไม่ค่อยดัง หรืออย่างที่สองคืออาจจะทำให้เสียงลำโพงแตกขับเสียงได้ไม่ครบถ้วนทุกรายละเอียด เป็นต้น
และทั้งหมดนี้ก็คือ วิธีเลือกซื้อหูฟังมอนิเตอร์ ที่ mercular.com ได้รวบรวมมาแนะนำเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านได้นำไปเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อหูฟังมอนิเตอร์ในครั้งนี้ ในครั้งหน้าหากมีข้อมูลใด ๆ น่าสนใจและมีประโยชน์อีกทางทีมงานก็จะรีบรวบรวมมานำเสนอกันอีกอย่างแน่นอนครับ สำหรับครั้งนี้สวัสดีครับ