Cover เพลงคืออะไร ทำยังไงให้ไม่ติดลิขสิทธิ์

2 ต.ค. 2563

Cover เพลงคืออะไร ทำยังไงให้ไม่ติดลิขสิทธิ์

สำหรับการคัฟเวอร์เพลงในปัจจุบันแล้ว ถือว่าง่ายกว่ายุคก่อน ๆ มาก เรียกได้ว่าในปัจจุบัน เราอาจจะได้เห็นวีดีโอเพลงคัฟเวอร์กระจายอยู่ตาม YouTube หรือ Platform ต่าง ๆ เต็มไปหมด แต่ความง่ายดายในการเข้าถึง นี่แหละที่อันตราย เพราะในมุมมืดนั้นเหล่านักร้อง Cover ทั้งหลายนั้นก็กำลังโดนมีดจี้หลังอยู่กลาย ๆ เพราะถ้าเกิดว่าพลาดพลั้ง อาจจะโดนกฏหมายลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการทำซ้ำเล่นงานเอาได้ ซึ่งจะนำไปสู่การจับกุม หรือปรับตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักสิบล้านเลยก็มี หรือถ้าเบา ๆ หน่อยใน YouTube คุณก็จะไม่สามารถสร้างรายได้จากวีดีโอนั้น ๆ ได้ ฉะนั้นวันนี้ Mercular.com จึงจะมาพูดถึงเรื่องวิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้ Cover เพลง ได้แบบไม่ติดลิขสิทธิ์นั่นเอง

เครดิต : tshirtsuperstar.com

1. เลือกร้องเพลงจากค่ายที่ให้ร้องได้

การร้องเพลง Cover ใช่ว่าจะสร้างผลเสียให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะการถูกนำไป Cover บ่อย ๆ นั้นสะท้อนให้เห็นว่า เพลงของเรานั้นเพราะ เป็นที่นิยม และกำลังโด่งดังนั่นเอง หรือในบางกรณีก็จะเป็นการช่วยโปรโมทเพลงของเราไปในตัวอย่างเพลง 40km/hr ของ Terracotta นั้น ก็ได้นักร้องคัฟเวอร์คนหนึ่งหยิบมาร้องจนกลายเป็นกระแส ก่อนที่ตัวเพลงเวอร์ชั่นออริจินัลจะค่อยเข้าสู่ตลาดหลักเรื่อย ๆ ทำให้ยังมีหลายค่ายเพลง และหลายวงดนตรีอิสระที่เปิดให้เอาเพลงของตัวเองมาเล่นได้อย่างอิสระนั่นเองตัวอย่างวงดนตรีที่สามารถนำมาร้อง Cover ได้เลยไม่ติดลิขสิทธิ์อย่างเช่น

MonoMusic

MonoMusic

วง ลิปตา

Lipta

ค่ายเพลง LOVEiS

LOVEiS

2. ซื้อลิขสิทธิ์เพลงนั้น ๆ

วิธีการที่ 2 นั้นเหมาะกับคนที่หารายได้จากการร้องเพลงเป็นหลัก และต้องได้รายได้เป็นกอบเป็นกำเสียด้วย เพราะการซื้อลิขสิทธิ์เพลงไปใช้ในเชิงพาณิชย์แบบเต็ม ๆ นั้นต้องใช้เงินเป็นจำนวนโขเลยทีเดียว (ยิ่งบางค่ายคิดสัญญาณรายปีถึง 5 หลักเลยด้วยซ้ำ) ซึ่งการซื้อลิขสิทธิ์เพลงไปร้องนั้นก็จะพบเห็นได้บ่อย ๆ กับนักร้องดัง ๆ ที่เพลงที่ตัวเองชอบเอาขึ้นเวทีมาจากวงพี่วงน้องที่ย้ายค่ายไป ทำให้ลิขสิทธิ์ติดไปด้วย ทำให้ต้องจ่ายเงินให้กับค่ายที่ถือลิขสิทธิ์ใหม่ เพื่อที่ตัวเองจะยังสามารถนำขึ้นไปร้องบนเวทีได้เหมือนเดิมนั่นเอง

3. ยื่นจดหมายขออย่างเป็นทางการไปเลย

แม้ว่าในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์กับนักร้อง Cover จะค่อย ๆ หมดไปแล้ว เพราะหลาย ๆ ค่ายเริ่มปรับตัวเข้ากับยุคดิจิตอลได้แบบเต็มตัว เรียกได้ว่าค่ายที่มีปัญหามากที่สุด (ขอละเอาไว้) ก็ไม่มีประเด็นมานานหลายปี แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ถ้าเกิดต้องการหาเงิน หรือต้องการใช้งานที่เรารู้สึกว่าสุ่มเสียง ก็อย่าลืมขออนุญาตค่ายเพลงเพื่อการใช้งานก่อนจะได้ไม่ผิดใจกันที่หลังนะครับ ซึ่งวิธีนี้เราแนะนำมาก ๆ เพราะจะได้ข้อมูลถูกต้องที่สุด เนื่องจากแต่ละค่ายเพลงก็อาจจะมีมาตรการในการจัดการกับเรื่องลิขสิทธิ์ต่างกันไป

4. ไม่รับรายได้ หรือแบ่งรายได้ให้ศิลปิน/ค่ายเพลง

วิธีการนี้คือจุดร่วมที่ทำให้คุณ Cover เพลง ได้แบบถูกลิขสิทธิ์ โดยแบ่งผลประโยชน์ให้กับค่ายเพลงต่าง ๆ เพราะ Platform Cover เพลง ที่ใหญ่ที่สุดของ YouTube เขามีการปรับปรุงระบบ AI ของตัวเองทำให้สามารถตรวจสอบลิขสิทธิ์ได้ทำให้เจ้าของคลิปสามารถทำเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งรายได้ให้เจ้าของเพลงได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งในแต่ละเพลงนั้นก็จะมีการเปิดให้หารายได้แตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็น เปิดให้หารายได้เต็มที่ เปิดให้หารายได้บางส่วน หรือ ห้ามหารายได้เลย ซึ่งกรณีที่ 3 มักจะเกิดขึ้นกับเพลงที่ดังมาก ๆ แต่ผู้ใช้งานยังสามารถร้องเพื่อเรียกยอดวิวได้อยู่ ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นข้อเสนอที่แฟร์กว่าที่อื่นๆ มาก 

เล่นเพลง Cover ยังไงให้ไม่ติดลิขสิทธิ์

แล้วทริคเล่นหลบการตรวจจับ YouTube ใช้ได้จริงไหม ?

หลาย ๆ คนอาจจะเคยเห็นทริคที่ให้เล่นหลบ ๆ หรือเล่นคนละคีย์กับตัวเพลงจริง เพื่อหลบการตรวจจับนี้ อันนี้ทางเราบอกก่อนเลยว่าใช้งานได้ แต่ไม่แนะนำเท่าไหร่ เพราะ AI ของ YouTube นั้นฉลาดขึ้นมาก ๆ ไม่พอ บางที่ถ้าโดนจับได้ทีหลังอาจจะโดนเรียกค่าลิขสิทธิ์หัวบานได้ เพราะ ลิขสิทธิ์เพลงมันไม่ใช่แค่โน้ตเพลง แต่เป็นคำร้องด้วย ฉะนั้นใครที่อยากจะทำเพลง Cover จริง ๆ เราแนะนำให้ยื่นเอกสารขอเป็นเพลง ๆ ไปเลย เพราะเราอาจจะได้รายได้เต็ม ๆ จากคลิปวีดีโอก็ได้ หรือไม่อย่างนั้นก็เอาอย่างพี่ ๆ วงอินดี้ทั้งหลายเช่น GUNGUN, Terracotta, Serious Beacon แต่งเพลงเอง เล่นเอง ดังเอง นักเลงพอ หรือเล่นไป ผสม ๆ ไปกับการเล่นเพลงคัฟเวอร์นั่นเองครับ.

วิธี Cover เพลงยังไงให้ไม่ติดลิขสิทธิ์

โดยในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงสำหรับนักร้อง Cover นั้นลดลงไปเยอะมาก ๆ เรียกได้ว่าในช่วงปี 2012 – 2016 นั้นมีดราม่าเพลง Cover และเสียงโวยวายก่นด่าเต็ม Social Network ไปทั่ว แต่ในปัจจุบันก็มีการร่วมมือระหว่างค่ายเพลงกับ Platform เพลงต่าง ๆ มากขึ้นเช่น JOOX ที่ผู้ฟังสามารถเข้าไปร้องเพลงคาราโอเกะเพลงฮิต ๆ ได้เลย หรือจะเป็น Facebook ที่จับมือโดยตรงกับทาง GMM ในเรื่องของการเผยแพร่เพลงภายในค่าย หรือระบบแบ่งรายได้อัตโนมัติของทาง YouTube ซึ่งเข้ามาช่วยลดความตึงเครียดระหว่างนักร้องเพลง Cover กับค่ายเพลงได้เป็นอย่างดี เห็นแบบนี้ใครที่อยากจะเริ่มหันมา Cover เพลงก็ไม่ต้องกลัวกันแล้ว นะครับกับความน่ากลัวของกฏหมายลิขสิทธิ์ที่ริ่มเบาลงไป ซึ่งใครที่กำลังมองหาไมโครโฟน หรือหูฟังมอนิเตอร์ สำหรับ Cover เพลงดี ๆ หรืออุปกรณ์ดนตรี ทาง Mercular.com ก็มีจัดจำหน่ายให้เลือกกันมากมาย หรือจะเป็นเพลงง่าย ๆ เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นในการ Cover เพลงเราก็มีแนะนำเช่นกัน ! ฉะนั้นอย่าลืมกดติดตามเราไว้ แล้วพบกันใหม่บทความต่อไปครับ !!

article-banner-1
article-banner-2