เทสคีย์บอร์ด ขั้นตอนสำคัญ ทดสอบให้รู้ ปุ่มไหนใช้งานได้

9 ก.พ. 2566

เทสคีย์บอร์ด ขั้นตอนสำคัญ ทดสอบให้รู้ ปุ่มไหนใช้งานได้

เมื่อซื้อคีย์บอร์ดตัวใหม่มา หลายคนมักใช้งานมันในทันที คีย์บอร์ดใหม่ๆ จะมีปัญหาอะไรได้ หรือใช้ๆ ไปก่อน ถ้าเจอปุ่มไหนเสียก็ค่อยมาดูกัน ซึ่งหากเป็นคีย์บอร์ดทั่วไป การใช้งานทันทีก็เป็นสิ่งที่หลายคนทำกัน แต่สำหรับคัสตอมคีย์บอร์ด ที่แยกชิ้นมา ทั้งเคส คีย์แคป สวิตซ์ แผงวงจร และต่างๆ อีกมากมายที่ต้องปวดหลังนั่งประกอบกัน หากไม่เทสคีย์บอร์ดเสียก่อน ถ้าเจอสักปุ่มหนึ่งที่มีปัญหา อาจต้องรื้อใหม่ ถอดคีย์แคป ถอดสวิตซ์ และหากเป็นปัญหาที่ตัวบอร์ดเอง ก็ยุ่งยากมากกว่านี้อีก นักคัสตอมคีย์บอร์ดหลายคนจึงเลือกที่จะเทสคีย์บอร์ด ทดสอบกดปุ่ม ตรวจเช็คความเรียบร้อยก่อนที่จะประกอบมันเข้ากับเคส จะได้ไม่เสียเวลานั่นเอง


ไม่เพียงเท่านั้น คนที่ต้องส่งต่อโน๊ตบุ๊ค หรือคีย์บอร์ดไปยังผู้ใช้งานคนอื่น จะมานั่งไล่กดปุ่มทีละตัวก็อาจทำให้เราพลาดได้ บางปุ่มอาจไม่ได้แสดงคำสั่งออกมาชัดเจนเหมือนปุ่มตัวอักษร เช่น ปุ่มฟังก์ชัน หรือปุ่ม F ที่มักจะเปลี่ยนคำสั่งไปตามโปรแกรมที่ใช้ ทำให้มีโอกาสที่จะไม่ทราบว่าปุ่มนั้นอาจจะใช้งานไม่ได้จริงๆ การเทสคีย์บอร์ดผ่านเว็บไซต์ที่มีหน้าต่างตรวจสอบการกดรายปุ่มจึงเป็นตัวช่วยที่ดีไม่น้อย


วันนี้ ใครที่กำลังจะประกอบคีย์บอร์ดตัวใหม่ ใครที่ต้องส่งต่อโน๊ตบุ๊ค คีย์บอร์ด และต้องการตรวจเช็คความพร้อมสินค้า เรามีตัวช่วยอย่างการ "เทสคีย์บอร์ด ขั้นตอนสำคัญ ทดสอบให้รู้ ปุ่มไหนใช้งานได้" ใครกำลังสงสัยว่าปุ่มไหนใช้งานได้ ไม่ได้ หรือไปตั้งค่าไว้ แล้วไม่รู้ว่าปุ่มนั้นคำสั่งอะไร วันนี้เรามีตัวช่วยอย่างการเทสคีย์บอร์ดมาให้ดูกันครับ

กำลังใช้งานคีย์บอร์ด

เทสคีย์บอร์ด สำคัญอย่างไร

แค่กดๆ ก็ทราบได้แล้วว่าปุ่มไหนเสีย หรือมีปัญหา อันนี้ก็ไม่ผิดนัก คนที่ใช้งานคีย์บอร์ด หรือโน๊ตบุ๊คคงทราบทันทีว่าปุ่มที่ใช้งานประจำมีความผิดปกติไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกปุ่มที่เราใช้งาน รวมถึงบางปุ่มเองก็มีคำสั่งไม่ซ้ำกันในแต่ละหน้าต่าง และโปรแกรม ทำให้เราไม่สามารถทดสอบมันได้เพียงการเปิดโปรแกรมพิมพ์งานและไล่ไปทีละตัว การเทสคีย์บอร์ดผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ หรือโปรแกรมจึงเข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้ แล้วเจ้าการเทสคีย์บอร์ดนี้มีความสำคัญอย่างไร ดีต่อใครบ้าง มาดูกันครับ


ทดสอบก่อนประกอบเครื่องคีย์บอร์ด


สำหรับนักคัสตอมคีย์บอร์ดคงทราบดีว่ากว่าจะออกมาเป็นคีย์บอร์ดที่พร้อมใช้งานมีหลายขั้นตอนซ่อนอยู่ และส่วนมากคัสตอมคีย์บอร์ดมักแยกส่วนประกอบมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเคส แผงวงจร เพลท สวิตซ์ คีย์แคป ชั้นโฟม และอื่นๆ อีกมากที่ชาวคัสตอมจะยัดมันเข้าไป ซึ่งใช้เวลาและมีหลายขั้นตอน


โดยสินค้าที่ซื้อมาแม้จะมาจากแบรนด์ชั้นนำที่ไว้ใจได้ แต่ก็มีโอกาสที่จะเสียหายตั้งแต่แรกที่เปิดกล่อง หากเป็นรอยบนเคส หรือความเสียหายภายนอก เราจะเห็นได้มันได้ง่าย แต่สำหรับแผงวงจร นอกจากดูภายนอกแล้ว เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าแต่ละปุ่มสำหรับติดตั้งสวิตซ์เพื่อกดใช้งานมีความสมบูรณ์ขนาดไหนจนกว่าจะได้กดใช้งาน ฉะนั้นหากเราประกอบจนเสร็จแล้ว แล้วเพิ่งมาทราบว่าปุ่มบางปุ่มไม่สามารถกดใช้งานได้ อย่างน้อยคือต้องถอดสวิตซ์ออกมาดูขา แต่หากมันเสียหายตรงจุดอื่น ก็ต้องรื้อออกมาดู ซึ่งการเทสคีย์บอร์ด หรือทดสอบรายปุ่มผ่านโปรแกรม หรือเว็บไซต์ออนไลน์จะช่วยให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าแผงวงจรที่เรามีพร้อมใช้งาน สมบูรณ์ และหากติดตั้งเสร็จแล้วกดไม่ได้ ยังจำกัดขอบเขตของต้นเหตุได้ง่าย เช่น สวิตซ์มีความเสียหาย ไม่ได้เกิดจากแผงวงจร

ผู้ใช้งานกำลังพิมพ์โดยใช้แมคบุ๊ค

ตรวจสอบความสมบูณของโน๊ตบุ๊คและคีย์บอร์ดก่อนส่งต่อ


ในกรณีที่เราต้องขายโน๊ตบุ๊ค หรือคีย์บอร์ดที่ใช้งานอยู่ไปยังผู้ใช้งานคนต่อไป แน่นอนว่าเราควรทดสอบความสมบูรณ์ของสินค้าเพื่อให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง แต่หลายคนเลือกที่จะเปิดโปรแกรมพิมพ์งานและนั่งไล่กดทีละตัว ซึ่งหลายปุ่มเองไม่แสดงคำสั่งในหน้านั้น หรือแสดงแล้วแต่เราไม่ทราบ รวมถึงมันเสีย แต่เราก็ไม่รู้เช่นกัน เพราะเป็นหน้าที่ปุ่มนั้นๆ ไม่แสดงคำสั่งอยู่แล้ว


การเทสคีย์บอร์ดจึงเป็นช่องทางที่ได้คำตอบอย่างรวดเร็วว่าปุ่มนั้นใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่ โดยหน้าต่างการเทสส่วนมากจะเป็นรูปคีย์บอร์ด มีปุ่มกดตามช่อง ปุ่มไหนกดได้ ปุ่มบนหน้าเว็บไซต์ก็จะแสดงผลให้เห็น เช่น แสดงปุ่มนั้นเป็นสีเขียว หรือแสดงคำสั่งให้เห็นไปเลยว่ากำลังกดใช้งานปุ่มไหนอยู่ การเทสคีย์บอร์ดจึงทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น ไม่ส่งต่อคีย์บอร์ดหรือโน๊ตบุ๊คที่มีปัญหาครับ


เทสคีย์บอร์ดเพื่อทราบคำสั่งของปุ่มนั้นๆ


เกมเมอร์ หรือคนทำงานบางคนตั้งค่าปุ่มใหม่ หรือตั้งปุ่มมาโคร แล้วอยากทดสอบ หรืออยากตรวจสอบคำสั่งกับปุ่มนั้นๆ การเทสคีย์บอร์ดผ่านเว็บไซต์ออนไลน์นี้จะช่วยให้เราทราบคำสั่งได้เช่นกัน บางเว็บไซต์นอกจากจะบอกว่าปุ่มที่กดคือปุ่มอะไร ยังบอกอีกว่าเป็นคำสั่งอะไรได้ด้วย เช่น เราตั้งค่าหากกด 2 ปุ่มนี้พร้อมกัน จะกลายเป็นปุ่มเพิ่มลดเสียง หากเราไม่มั่นใจ เราสามารถทดสอบผ่านการเทสคีย์บอร์ด ชื่อคำสั่งอย่างการเพิ่ม ลดเสียงก็จะขึ้นมาให้เรามั่นใจมากขึ้นนั่นเอง หรือหากสับสน ตั้งค่าปุ่มเยอะเกินไป เช่น ปกติปุ่ม A จะต้องเป็น A แต่กลายเป็นตัวอื่น เราสามารถเข้าเว็บไซต์เทสคีย์บอร์ด เพื่อดูว่าคำสั่งได้ว่าปุ่ม A ถูกตั้งค่าเป็นคำสั่งอะไร และยังเช็คได้ว่าจริงๆ แล้วปุ่มมีปัญหา เสียหายหรือไม่ได้ด้วยครับ

กำลังใช้งานคีย์บอร์ดบนโน๊ตบุ๊ค

วิธีการเทสคีย์บอร์ด

ขั้นตอนการเทสคีย์บอร์ดสมัยนี้ไม่ยากเลยครับ สมัยก่อนหากต้องการเทสคีย์บอร์ดจำเป็นต้องโหลดโปรแกรมเข้าเครื่อง แต่สมัยนี้เราสามารถเทสคีย์บอร์ดผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ได้ทันที สะดวกสุดๆ ไปเลย แล้วขั้นตอนมีอะไรบ้าง เรามาดูกันครับ


ติดตั้งคีย์บอร์ด 


สำหรับโน๊ตบุ๊คที่มีคีย์บอร์ดติดตั้งมาอยู่แล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปเลยครับ แต่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และมีคีย์บอร์ดที่ต้องการทดสอบอยู่ ให้ทำการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ หากเป็นคีย์บอร์ดสาย ให้เสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย สำหรับคีย์บอร์ดไร้สาย ให้ทำการเชื่อมต่อผ่านระบบไร้สาย ไม่ว่าจะเป็น Wireless 2.4 GHz หรือ Bluetooth แต่หากคีย์บอร์ดไร้สายสามารถเชื่อมต่อด้วยสายได้ แนะนำให้เชื่อมต่อแบบมีสายเพื่อทำการทดสอบ ระบบสัญญาณจะได้เสถียรครับ


เข้าหน้าเว็บเทสคีย์บอร์ด


เว็บไซต์สำหรับเทสคีย์บอร์ดมีให้เลือกเยอะมาก โดยเราสามารถเข้าเว็บไซต์สำหรับการเทสคีย์บอร์ดผ่านการพิมพ์ค้นหาคำว่า “เทสคีย์บอร์ด” “เทสปุ่มกด” “Keyboard test” หรือ “Keyboard test online” ก็ได้ครับ


โดยส่วนมากหน้าตาเว็บเทสคีย์บอร์ดจะเหมือนๆ กันหมดเลยครับ เป็นคีย์บอร์ด ขนาดส่วนมากจะเป็น Full-Size เมื่อเรากดเทสคีย์บอร์ด ปุ่มที่ถูกกดไปแล้วจะเปลี่ยนสี เพื่อให้เราทราบว่าปุ่มนั้นได้ถูกกดไปแล้ว บางเว็บมีให้เราเลือกระบบปฏิบัติการ เช่น Windows และ macOS และบางเว็บนอกจากทดสอบว่าปุ่มนั้นใช้งานได้หรือไม่ ยังบอกอีกด้วยว่าเป็นคำสั่งอะไร เพื่อให้เรามั่นใจคำสั่งที่กดมากขึ้น และยังเหมาะสำหรับคนที่ตั้งและเปลี่ยนคำสั่งรายปุ่ม จะได้ทราบว่าปุ่มนั้นๆ ได้เปลี่ยนตามที่ตั้งไว้หรือไม่


ทดสอบซ้ำ หลายๆ เว็บไซต์


การทดสอบหลายๆ เว็บไซต์จะช่วยให้เรามั่นใจได้มากขึ้น บางเว็บอาจแจ้งว่าปุ่มนั้นเสีย กดเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้นคำสั่ง แต่อีกเว็บขึ้น ดังนั้นอาจเป็นที่ตัวเว็บไซต์ไม่เสถียร ดังนั้นจึงแนะนำว่าให้ลองทดสอบหลายๆ เว็บไซต์หากเจอปุ่มเสีย จะได้ทราบว่าเป็นที่ปุ่มจริงๆ หรือเป็นที่เว็บไซต์นั่งเอง

ภาพตัวอย่างการใช้งานเว็บไซต์เทสคีย์บอร์ดเพื่อทดสอบคีย์บอร์ด

เทสคีย์บอร์ด ขั้นตอนสำคัญ ทำง่ายๆ ที่หลายคนมองข้าม

การเทสคีย์บอร์ดเป็นขั้นตอนง่ายๆ ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จสิ้นกระบวนการ แต่หลายคนมักมองข้ามก่อนที่จะประกอบคีย์บอร์ด จากที่ไม่กี่ขั้นตอน ก็อาจต้องใช้เวลามากขึ้น รวมถึงคนที่กำลังส่งต่อโน๊ตบุ๊ค หรือคีย์บอร์ดไปยังผู้ใช้งานคนต่อไป การเทสคีย์บอร์ดจะช่วยเช็คความสมบูรณ์ของสินค้ามากขึ้น และคนที่มักตั้งค่าคีย์บอร์ด เปลี่ยนคำสั่งรายปุ่ม หรือตั้งค่า Layer ให้กับคีย์บอร์ดขนาดเล็กๆ การเทสคีย์บอร์ดเป็นอีกทางเลือกเพื่อให้ได้ทราบคำสั่งที่เราได้ตั้งค่าไป ใครที่ต้องการทดสอบความพร้อมคีย์บอร์ด ความพร้อมโน๊ตบุ๊ค และต้องการทราบคำสั่งที่ตั้งค่าไป ตอนนี้คงทราบวิธีง่ายๆ อย่างการเทสคีย์บอร์ดกันไปแล้ว ครั้งหน้าจะได้ไม่ต้องไล่ทีละตัวบนโปรแกรมพิมพ์งาน และไม่พลาดปุ่มคำสั่งบางปุ่มไปด้วยครับ


หากใครกำลังมองหาแมคคานิคอลคีย์บอร์ด คัสตอมคีย์บอร์ด หรือคีย์บอร์ดสำหรับทำงาน เล่นเกมอยู่ ที่ Mercular เรามีสินค้าให้เลือกมากมาย คัดสรรจากแบรนด์ชั้นนำ สินค้าคุณภาพ การรับประกันหลังการขายหายห่วงครับ

best-seller-ads
article-banner-1
article-banner-2