รวม 14 เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพเด็ดๆ ในการถ่ายรูปให้ดูว้าว

30 ก.ย. 2564

รวม 14 เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพเด็ดๆ ในการถ่ายรูปให้ดูว้าว

เป้าหมายในการถ่ายรูปของแต่ละคนนั้นมีอะไรกันบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ทุกๆ คนก็ต้องแชร์เป้าหมายเดียวกันนั่นคือ “อยากถ่ายภาพสวยๆ” ซึ่งไอการถ่ายภาพให้สวยๆ เนี่ยก็ทำให้หลายๆ คนสงสัยว่าต้องทำยังไง บางคนก็เลือกลงทุนซื้ออุปกรณ์ดีๆ ราคาแพงๆ มาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แต่ใช่ว่าอุปกรณ์ที่ดีจะทำให้ภาพของเรานั้นสวยสะใจได้ เพราะแม้แต่อุปกรณ์ใกล้มืออย่างโทรศัพท์มือถือเองก็สามารถถ่ายรูปให้สวยและโดดเด่นได้ไม่แพ้กัน เพียงแค่ใช้หลักการจัดองค์ประกอบภาพเท่านั้นเอง แต่สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มถ่ายภาพหรือไม่เคยถ่ายมาก่อนคงงงว่า แล้วไอองค์ประกอบภาพนี่มันคืออะไร แล้วมันสำคัญมากขนาดไหนกัน วันนี้เราจะมาเรียนรู้เคล็ดลับการถ่ายภาพด้วยการใช้องค์ประกอบภาพ ที่จะทำให้การถ่ายรูปของเรานั้นสวยขึ้นมาได้ทันตาเห็น จะมีอะไรบ้างนั้น เรามาดูไปพร้อมๆ กันเลย




องค์ประกอบภาพคืออะไร

องค์ประกอบภาพ (Composition) เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนจัดวางสิ่งต่างๆ ในภาพให้อยู่ในจุดที่สวยงาม โดดเด่น และดึงดูดสายตา ทั้งที่เกิดจากการเข้าไปจัดวางเองและจากการเปลี่ยนมุมมองการถ่าย ทำให้ภาพที่ได้นั้นสามารถสื่ออารมณ์ สื่อความหมายที่เราต้องการ และทำให้ภาพนั้นสวยงาม โดดเด่นขึ้นมาได้ ซึ่งวิธีการจัดองค์ประกอบภาพนั้นก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นซะทีเดียว แต่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคภาพเขียน งานศิลป์ต่างๆ ซึ่งได้รับการต่อยอด พัฒนามาเรื่อยๆ จนตกผลึกมาในปัจจุบัน ส่วนองค์ประกอบภาพที่นิยมใช้กันนั้นมีอะไรบ้าง เราคัดแบบที่ยอดนิยมมาให้แล้ว


แนะนำองค์ประกอบภาพเด็ดๆ

ในโลกของเราตอนนี้มีองค์ประกอบภาพ (Composition) ที่หลากหลายรูปแบบ และเป็นเอกลักษณ์ของช่างภาพชื่อดังหลายๆ คน โดยเราได้คัดเลือกองค์ประกอบภาพที่นิยมใช้เป็นหลักมาถึง 14 แบบด้วยกัน ที่แม้จะเป็นคนที่ไม่เคยถ่ายรูปมาก่อน แค่ลองใช้องค์ประกอบภาพพวกนี้ก็ทำให้ภาพสวยขึ้นเป็นกองเลยทีเดียว




กฎสามส่วน และจุดตัดเก้าช่อง (Rule of Thirds)


เริ่มกันที่องค์ประกอบภาพที่ใช้ได้ง่ายและทำได้ทุกสถานการณ์ ใช้ได้ตั้งแต่กล้องถายรูปจนถึงกล้องโดรน โดยให้แบ่งภาพที่จะถ่ายออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน จะเป็นแนวนอนหรือแนวตั้งก็ได้ แล้วจัดให้แบบหรือวัตถุที่เราจะถ่ายนั้นอยู่ในพื้นที่ 1/3 ส่วน หรือ 2/3 ส่วน เท่านี้ภาพของเราก็จะดูโดดเด่นขึ้นมาจากการใช้กฏสามส่วนนั่นเอง

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะถ้าเราลากเส้นแบ่งตามกฎสามส่วนทั้งแนวตั้งและแนวนอนแล้ว จะเกิดจุดตัดกัน 4 จุดบนเส้น ซื่งเป็นที่มาองค์ประกอบภาพอีกแบบที่ชื่อว่า “จุดตัดเก้าช่อง” ที่เมื่อจัดตัวแบบให้อยู่ในจุดเหล่านั้น ก็จะทำให้แบบของเราโดดเด่นขึ้นมาได้ง่ายๆ เลย ถือว่าเป็นวิธีการจัดองค์ประกอบภาพที่ง่ายและใช้ได้หลากหลายสถานการณ์


เส้นนำสายตา (Leading Lines)


องค์ประกอบภาพนี้จะเกิดขึ้นได้จากการกำหนดเส้นสมมติบางอย่างที่เกิดจากฉากหรือวัตถุในภาพ เช่นถนน แม่น้ำ มุมตึก หรือรั้ว ชี้นำให้เรากวาดสายตาไปยังตัวแบบที่เราต้องการ ซื่งนอกจากจะทำให้ภาพที่เราได้นั้นโดดเด่นขึ้น ยังช่วยสร้างมิติต่างๆ ภายในภาพอีกด้วย




เส้นสายและรูปร่าง (Shape & Form)


การใช้องค์ประกอบภาพแบบนี้นั้น ก่อนอื่นเลยจะต้องมองสิ่งต่างๆ ในภาพของเรานั้นว่าประกอบไปด้วยเส้นหลายๆ เส้น ซื่งเส้นแต่ละรูปแบบนั้นก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นเส้นตรง ที่แสดงถึงความแข็งแรง แน่วแน่ เส้นโค้งที่แสดงถึงความอ่อนโยน หรือเส้นหยักที่สื่อถึงความรุนแรง สับสนวุ่นวาย เมื่อเส้นทั้งหมดถูกประกอบเข้าด้วยกันก็จะเกิดเป็นตัวแบบขึ้นมา ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้การสื่ออารมณ์ต่างๆ ในภาพทำได้ง่ายขึ้น และจะทำให้ภาพของเราดึงดูดสายตาจากเส้นทั้งหลายนี้




ความสมดุล (Balance)


ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ความสมดุลก็เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างนั้นดีขึ้น รวมถึงการถ่ายรูปด้วย หากเราสามารถจัดองค์ประกอบของภาพให้มีความสมดุล ไม่มีวัตถุหรือตัวแบบเอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือจะใช้ความเข้มของแสงเงาและสีในการเกลี่ยน้ำหนัก ซึ่งการจัดองค์ประกอบแบบนี้ก็จะทำให้ภาพถ่ายจากกล้องของเรานั้นดูสบายตา และสวยงามขึ้น


พื้นที่ว่าง (Space)


อีกวิธีที่จะทำให้ตัวแบบของเรานั้นดูโดดเด่นขึ้นมานั้น คือการทำให้พื้นที่รอบตัวแบบนั้นโล่ง ไม่มีวัตถุอื่นๆ รบกวนในฉาก ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะทำให้ตัวแบบของเรานั้นดูโดดเด่นแล้ว ยังทำให้ภาพนั้นดูสบายตา ปลอดโปร่งยิ่งขึ้น

แสงและเงา (Light & Shadow)


แสงและเงาเป็นอีกสิ่งที่สำคัญในวงการศิลป์ ซึ่งแสงเงาสามารถใช้ในการสื่ออารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ ซึ่งหนึ่งในวิธีการพื้นฐานในการใช้แสงและเงาก็คือ การเน้นแสงที่ตัวแบบให้มีความสว่างมากกว่าพื้นหลัง หรือถ่ายให้ตัวแบบนั้นย้อนแสงจนเป็นเงาดำขณะที่พื้นหลังยังคงสว่างอยู่ ซึ่งทั้งสองวิธีนี้อาจจะให้ความรู้สึกของภาพที่แตกต่าง แต่ก็ทำให้ตัวแบบของเรานั้นดูโดดเด่นขึ้นมาทันที

สี (Colors)


ไม่เพียงแค่แสงและเงาเท่านั้น แต่สีก็เป็นอีกส่วนสำคัญในองค์ประกอบศิลป์ต่างๆ ซึ่งสีแต่สีนั้นต่างก็มีความหมายและอารมณ์แฝงที่แตกต่างกัน ซึ่งนอกจากจะใช้สีในการสื่ออารมณ์ของภาพแล้ว เรายังสามารถใช้วิธีในการจับคู่สีที่ขัดแย้งกันอย่างเช่นสีแดงและน้ำเงินมาใส่ในภาพ ซึ่งจะทำให้ตัวแบบที่เราอยากถ่ายนั้นดูโดดเด่นได้เช่นกัน

พื้นผิว (Texture)


ไม่เพียงแค่แสงสีและเงาเท่านั้นที่ถูกใช้เป็นองค์ประกอบของภาพ เพราะสภาพพื้นผิวต่างๆ เองก็สามารถนำมาใช้ในการจัดองค์ประกอบของภาพถ่ายของเราได้ เช่นเดียวกับสี พื้นผิวแต่ละแบบนั้นก็สื่ออารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นพื้นผิวของไม้ เสื้อผ้า แม้แต่ผิวหนังสัตว์หรือมนุษย์เองก็ตาม ต่างก็สามารถช่วยให้ตัวแบบหรือสิ่งที่เราต้องการถ่ายนั้นดูงดงาดและโดดเด่นขึ้นมาได้

การทำซ้ำ ความเป็นแบบแผน (Pattern)


องค์ประกอบภาพนี้มักพอเห็นได้บ่อยในการถ่ายภาพอาคารสถานที่ โดยการจัดสิ่งที่มีรูปร่างลักษณะที่ซ้ำซ้อนกันให้อยู่ในภาพ อย่างเช่นหน้าต่าง เสา เสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มีแบบแผนและการทำซ้ำหลายๆ จุด ก็จะทำให้ภาพของเรานั้นดูโดดเด่นเป็นระเบียบขึ้นมาเลย

ความขัดแย้ง (Contrast)


ความขัดแย้งในองค์ประกอบศิลป์นั้นสามารถทำให้เกิดผลดีได้ หากสามารถปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์และองค์ประกอบภาพอื่นๆ ได้ อย่างเช่นการใช้เปรียบเทียบกันระหว่างตัวแบบ วัตถุต่างๆ หรือพื้นหลังที่ดูแตกต่างกันนั้น อย่างเส้นสาย สี แสงเงาต่าง ก็สามารถชูให้จุดที่ขัดแย้งกันนั้นดูโดดเด่นและมีความหมายขึ้นมาจากภาพได้




ความลึกของภาพ (Depth)


ในการถ่ายรูปภาพนั้น ปัญหาหนึ่งที่หลายๆ คนจะเจอนั่นคือภาพถ่ายของเรานั้นดูแบน เป็นระนาบเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นภาพถ่ายที่ดีนั้นควรมีการแสดงให้เห็นถึงความตื้นลึกหนาบางในจุดต่างๆ เพื่อให้ภาพของเรานั้นมีมิติใกล้ไกลและดูน่าค้นหายิ่งขึ้น

ฉากหน้า ฉากหลัง (Foreground & Background)


การจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้ฉากหน้าและฉากหลังเข้าช่วยนั้น จะช่วยเสริมเรื่องราวและมิติต่างๆ ให้กับภาพของเราได้ และช่วยชูให้ตัวแบบที่เราต้องการถ่ายนั้นโดดเด่นขึ้นมาได้ หากให้เปรียบเทียบก็คนเหมือนกับถ่ายภาพคนที่มีฉากหลังเป็นตึงรางบ้านช่อง กับอีกฉากที่เป็นป่าเขา ซื่งพื้นหลังทั้งสองก็ให้อารมณ์และความหมายที่แตกต่างกัน และการที่มีฉากหน้าในภาพก็จะช่วยเสริมเรื่องของมิติและการนำสายตาไปยังตัวแบบได้อีกด้วย




กรอบภาพ (Frame)



วิธีนี้จะทำให้ตัวแบบที่เราต้องถ่ายนั้นเข้าไปอยู่ในกรอบบางอย่างในฉาก ซึ่งอาจจะเป็นประตู หน้าต่าง หรือช่องบางอย่าง ทำให้เราสามารถดึงความสนใจในภาพให้เน้นไปยังตัวแบบหรือจุดที่เราใส่กรอบเอาไว้ได้




การเคลื่อนไหว (Movement)


สิ่งนึงที่ไม่ควรลืมคือภาพถ่ายของเรานั้นเป็นภาพนิ่ง เพราะงั้นการถ่ายภาพที่สามารถจับภาพและแสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว การกระทำต่างๆ นั้น ก็จะยิ่งเสริมเรื่องราวในภาพให้ดูมีชีวิตชีวา และน่าสนใจยิ่งๆ ขึ้นไปอีกเช่นกัน




ใช้องค์ประกอบภาพแบบไหน ถึงจะทำให้ภาพสวยที่สุด

แน่นอนว่า การจะใช้องค์ประกอบภาพแต่ละแบบ แต่ละวิธีนั้น ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องสถานการณ์และสิ่งที่เราจะถ่ายด้วย เพราะในบางครั้ง เราก็ไม่สามารถที่จะใช้วิธีการจัดองค์ประกอบบางอย่างได้ และการฝืนใช้องค์ประกอบภาพที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้ภาพของเรานั้นดูแย่ลงกว่าเดิม ดังนั้น การเลือกใช้องค์ประกอบภาพแต่ละแบบนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถของเราด้วย ซึ่งถ้าเราอยากจะรู้ว่าวิธีการจัดองค์ประกอบภาพแบบไหนเหมาะสมที่สุด แนะนำว่าให้ลองฝึกถ่ายรูปไปเรื่อยๆ ลองใช้องค์ประกอบภาพต่างๆ ที่เราแนะนำไป ผสมผสานลองปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเราดู แล้วเราจะรู้เองว่าการจัด Composition แบบไหน ถึงจะได้ภาพที่สมใจ


ส่วนถ้าใครที่ถ่ายได้คล่องแล้วกำลังอยากได้กล้องใหม่ๆ มาใช้คู่กับฝีมือที่พัฒนาแล้ว ก็อย่าลืมแวะเข้ามาเลือกดูเลือกซื้อสินค้าต่างๆ จาก Mercular.com ที่ตอนนี้เราก็มีหมวดหมู่ Drone & Camera ที่มีให้เลือกทั้งโดรนและกล้องถ่ายรูปจากหลากหลายแบรนด์และรุ่นที่เราคัดมาให้คุณโดยเฉพาะ

>>>>ตามลิงค์นี้เลย<<<<  และสุดท้ายนี้ ก็ขอฝากบทความนี้ให้กับทุกคนที่สนใจการถ่ายรูป หวังว่ารอบหน้า ทุกคนจะพกรูปสวยๆ ของแต่ละคนมาอวดกันด้วยนะ

article-banner-1
article-banner-2