วิธีปรับ Equalizer หูฟัง ทำอย่างไร ยากง่ายแค่ไหน

4 เม.ย. 2566

วิธีปรับ Equalizer หูฟัง ทำอย่างไร ยากง่ายแค่ไหน

หากจะพูดถึงสินค้าประเภท หูฟัง ด้วยความที่ในตลาดมีการแข่งขันกันที่สูงมากทำให้หูฟังแต่ละรุ่นและแต่ละแบรนด์นั้นมีการแข่งขันกันที่สูงมากๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการออกแบบที่บางแบรนด์ก็มาพร้อมรูปร่างหน้าตาสุดเท่ และในบางแบรนด์ก็มาพร้อมรูปร่างหน้าตาสุดคลาสสิคเป็นจุดขายแตกต่างกันออกไป ด้านฟังก์ชันการใช้งานอันทันสมัยที่แตกต่างกันออกไปตามเทคโนโลยีของแต่ละแบรนด์ เช่น ฟังก์ชันการเชื่อมต่อไร้สาย, ฟังก์ชันการตัดเสียงรบกวน และฟังก์ชันการสั่งงานด้วยเสียงต่างๆ เช่นใน หูฟังไร้สาย หูฟังไร้สาย True Wireless และด้านที่ต้องบอกเลยว่าเป็นจุดสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าของผู้ใช้งานเป็นอย่างมากนั่นก็คือเรื่องของ แนวเสียง นั่นเอง ด้วยความที่ผู้ใช้งานแต่ละคนล้วนมีความชอบในแนวเสียงที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละแบรนด์ล้วนพัฒนาแนวเสียงที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์นั้นๆ ออกมานั่นเอง และด้วยแนวเสียงที่เป็นเอกลักษณ์นี้เอง ที่บางครั้งก็สร้างความกังวลใจให้กับผู้ใช้งาน เพราะบางครั้งในหูฟังบางรุ่นก็มักจะมาพร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่ถูกใจแต่ส่วนของแนวเสียงด้วยความที่ถูกปรับจูนมาในแนวที่เป็นแนวเด่นของหูฟังก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานเท่าที่ควรนั่นเอง ซึ่งตรงนี้ที่ทำให้การปรับ Equalizer หูฟังเข้ามามีบทบาท เพื่อปรับแนวเสียงของหูฟังให้มีแนวเสียงตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุดนั่นเอง


และเพื่อเป็นการเอาใจผู้ที่เป็นนักฟังเพลง และชอบฟังเพลงแนวเสียงที่โดนใจมากที่สุด ซึ่งหูฟังที่มีอยู่อาจจะขับเสียงได้ไม่โดนใจเท่าที่ควรนัก ทำให้ต้องการหาวิธีปรับ Equalizer หูฟัง เพื่อให้ได้เสียงที่โดนใจและตอบโจทย์การฟังเสียงมากที่สุด โดยที่ยังไม่แน่ใจควรที่จะทำอย่างไรดี รวมถึงไม่ทราบว่ามีขั้นตอนในการปรับ EQ ง่ายดายหรือทำได้ยากมากน้อยแค่ไหน ในครั้งนี้ mercular.com ก็ได้รวบรวมเอา วิธีปรับ Equalizer หูฟัง ทำอย่างไร ยากง่ายแค่ไหน มาแนะนำสำหรับผู้อ่านทุกคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีวิธีหรือขั้นตอนในการปรับ EQ อย่างไร และทำได้ง่ายแค่ไหนนั้น เราไปดูกันเลยครับ

วิธีปรับ Equalizer หูฟัง ทำอย่างไร ยากง่ายแค่ไหน

ทำความรู้จัก Equalizer คืออะไร


ก่อนที่จะไปปรับ EQ กันก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่า Equalizer คืออะไร โดย Equalizer หรือเรียกสั้นๆ ว่า EQ นั้นก็คือการทำให้เป็นกลางหรือการ Balance เสียงในย่านความถี่ต่างๆ ให้ตรงกันหรือเท่ากัน เพื่อให้เสียงที่ออกมายังหูฟังนั้นๆ มีความเป็นกลางมากที่สุดหรือมีความแม่นยำและเที่ยงตรงมากที่สุด ไม่เน้นในย่านใดย่านหนึ่งจนอาจจะทำให้เสียงเกิดอาการเพี้ยน หรือเสียงย่านใดย่านหนึ่งโดดเกินไปจนฟังย่านอื่นๆ ไม่รู้เรื่อง รวมถึงหากหูฟังนั้นๆ มีการขับเสียงย่านใดย่านหนึ่งที่มากจนเกินไป ก็จะสามารถใช้ EQ ในการลดเสียงย่านที่เกินมานั้นได้นั่นเอง เพื่อผลลัพธ์คือเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติ ฟังสนุก และตอบโจทย์รวมถึงความชื่นชอบของผู้ฟังมากที่สุด เช่นหากหูฟังนั้นๆ มีเสียงเบสที่ล้นหรือตูมตามเกินไปก็สามารถลดเสียงเบสลงได้ หรือหากมีเสียงสูงที่ดังแหลมจนบาดแก้วหูก็สามารถลดเสียงแหลมลงได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการใช้งาน Equalizer ในการปรับเปลี่ยนแนวเสียงนั้นก็สามารถทำได้ง่ายมากๆ เพราะในหน้าจอการปรับ EQ ของทุกแอปและทุกโปรแกรมนั้นจะมีความคล้ายคลึงกันหรือก็คือเหมือนกันเป็นมาตรฐาน โดยการดูที่ตัวเลขที่แสดงในแนวนอนที่จะเป็นในส่วนของความถี่เสียง (Hz) ที่เรียงกันอยู่เป็นแถวๆ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับรายละเอียดเสียงของแอปนั้นๆ ถ้าปรับได้มากก็จะมีหลายแถว แต่ถ้าปรับได้ไม่มากก็จะมีแถวที่น้อยลงหรือเริ่มต้นที่ประมาณ 5 แถวนั่นเอง โดยการปรับแต่ละแถวก็จะเป็นการปรับความดังของย่านเสียงนั่นๆ หรือปรับ dB นั่นเอง โดยความถี่เสียงนั้นด้านซ้ายสุดจะเป็นเสียงย่านความถี่ต่ำหรือเสียงเบส ส่วนด้านขวาสุดจะเป็นย่านความถี่สูงหรือเสียงแหลม และตรงกลางระหว่างนั้นก็จะเป็นเสียงกลาง โดยยิ่งไปด้านซ้ายเท่าไหร่ก็จะเป็นเสียง กลาง - ต่ำ มากเท่านั้น กรณีเดียวกันคือยิ่งไปทางด้านขวา มากเท่าไหร่ก็จะเป็นย่าน กลาง - สูง มากเท่านั้นนั่นเอง นอกจากนี้ในการปรับ EQ ยังมีปุ่มสำคัญที่ก่อนจะทำการปรับควรทำความรู้จักก่อน ดังนี้


ปุ่ม Parameter ที่สำคัญใน EQ (Equalizer)


  • Frequency Range (EQ Band): ช่วงความถี่ที่ต้องการปรับหรือควบคุม
  • Gain: ปรับระดับ, เพิ่ม-ลดย่านความถี่ที่ต้องการ
  • ค่า Q Factor: ปรับความละเอียดความกว้าง-แคบ ในช่วงความถี่ที่เลือก (ค่า Q ต่ำ ส่งผลกระทบช่วงความถี่ที่กว้าง, ค่า Q สูง ส่งผลกระทบช่วงความถี่ที่แคบ)
วิธีปรับ Equalizer หูฟัง ทำอย่างไร ยากง่ายแค่ไหน

วิธีปรับ Equalizer หูฟัง ทำอย่างไร?

เมื่อทำความเข้าใจหลักการทำงานคร่าวๆ ของ EQ กันแล้ว ต่อไปเรามาดูหลักการในการปรับ EQ กันต่อครับ โดยการปรับ EQ นั้นถ้าผู้ฟังมีความเข้าใจว่าย่านความถี่ไหนขับเสียงย่านใด เมื่อใช้งานหูฟังแล้วรู้สึกว่าย่านเสียงใดหายไปผู้ฟังก็จะสามารถปรับเพิ่มเสียงย่านนั้นได้ตรงจุด ดังนี้ครับ


Sub Bass: 20 - 60 Hz


สำหรับการปรับย่านเสียงนี้จะให้ความรู้สึกมากกว่า เพราะย่านเสียงต่ำๆ บางครั้งก็จะมีความถี่เสียงที่ต่ำกว่าที่มนุษย์จะได้ยินได้ ทำให้ไม่สามารถใช้หูในการฟังได้แต่จะส่งความสั่นสะเทือนมายังแก้วหูหรือส่วนของร่างกายแทน ซึ่งอุปกรณ์ที่ขับเสียงย่านนี้ส่วนใหญ่คือ ลำโพง Subwoofer นั่นเอง โดยการเพิ่มเสียงย่านนี้ก็จะเพิ่มความรู้สึกกระหึ่มหรือความรู้สึกตุบตับนั่นเองครับ


Bass: 60 - 250 Hz


ย่านที่เรียกได้ว่าเป็นย่านที่หลายๆ คนชื่นชอบหรือก็คือย่านเสียงเบสนั่นเอง โดยจะเป็นย่านเสียงพื้นฐานของเพลงที่เป็นเสียงจากเครื่องดนตรีประเภท กีตาร์เบส และ เครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะ เช่น กลอง เป็นต้น โดยย่านเสียงนี้จะส่งผลให้เพลงมีความแน่น ซึ่งถ้าเพลงไหนหรือหูฟังตัวไหนที่มีเสียงย่านนี้น้อย เสียงที่ได้ก็จะมีอาการแบนๆ แห้งๆ หรือฟังแล้วรู้สึกไม่เต็มอิ่มครับ


Low Midrange: 250 - 500 Hz


ย่านความถี่เสียง ต่ำ - กลาง หรือจะเป็นในส่วนที่ควบคุมความคมของเสียงเบสนั่นเอง โดยการปรับเพิ่มเสียงย่านนี้จะช่วยให้ย่านเสียงความถี่ต่ำมีโทนเสียงที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็หากเพิ่มมากจนเกินไปโดยเฉพาะในช่วง 500Hz ก็จะทำให้เสียงดูอู้ และออกทุ้มจนฟังไม่สนุก


Midrange: 500 - 2000 Hz


ย่านเสียงกลาง หรือก็คือย่านเสียงหลักของเพลงนั้นๆ ที่เป็นย่านที่ใช้กำหนดความโดดเด่น ความชัดเจน ของเครื่องดนตรีต่างๆ รวมถึงยังมีความสำคัญต่อเสียงพูดและเสียงร้อง เพราะถ้าเสียงย่านนี้น้อย เสียงที่ได้ก็จะอู้อี้จนฟังไม่รู้เรื่องแน่นอนครับ


Upper Midrange: 2000 - 4000 Hz


ย่านเสียงที่หูของมนุษย์สามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดี หรือจะเรียกว่าตอบสนองได้ดีที่สุดก็ว่าได้ ผลก็คือหากผู้ใช้งานทำการปรับย่านนี้แม้แต่เพียงเล็กน้อยหูก็จะสามารถตรวจจับหรือได้ทันที โดยหลักๆ แล้วย่านเสียงนี้จะขับออกมาในแนวพุ่งออกมาเป็นหลัก และเครื่องดนตรีที่ใช้ย่านเสียงนี้หลักๆ ก็คือเสียงกลอง เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ย่านเสียงนี้ยังคงส่งผลต่อเสียงร้องแบบเดียวกับย่านกลางอีกด้วย


Presence: 4000 - 6000 Hz


ย่านเสียงที่ส่งผลต่อความคมชัดของเสียง หรือแนวเสียงในโทนเสียงย่านเสียงสูงนั่นเอง นอกจากนี้ย่านเสียงนี้ยังส่งผลต่อระยะทางของเสียงที่ส่งมาถึงหูผู้ฟังอีกด้วย โดยผู้ฟังสามารถสัมผัสความใกล้และไกลของเสียงต่างๆ ในเพลงได้จากย่านเสียงนี้ ซึ่งปลจากการเพิ่มลดย่านเสียงนี้ หากเพิ่มเสียงมากจนเกินไป เสียงจะออกแห้ง กระด้าง และบาดหู แต่ถ้าลดจนเกินไปมิติเสียงก็จะห่างออกไปมากจนเกินไปด้วยเช่นกันครับ


Brilliance: 6000 - 20000 Hz


ย่านเสียงสูงของเพลง โดยย่านเสียงนี้จะมีความสัมพันธ์กับ ความใส ความชัดเจน เสียง Sizzle และประกายเสียงต่างๆ ของเพลง โดยการเพิ่มเสียงในช่วง 12000 Hz จะทำให้ความรู้สึกจากการฟังเสียงนั้นมีความพรีเมียมหรือ Hi-Fi มากยิ่งขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นย่านเสียงสูงหากเพิ่มมากจนเกินไปก็อาจจะส่งผลต่อแก้วหูได้ครับ

วิธีปรับ Equalizer หูฟัง ทำอย่างไร ยากง่ายแค่ไหน

และจากคำอธิบายย่านเสียงในความถี่ต่างๆ ก็สามารถสรุปย่านเสียงและความถี่เสียงเป็นเครื่องดนตรีต่างๆ ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้ครับ


  • 63 Hz: เสียง Kick-drum (กลองเบส)
  • 125 Hz: เสียงก้องของกลอง
  • 250 Hz: เสียงกีตาร์เบส
  • 500 Hz: เสียงก้องกังวาน + เสียงร้องต่ำ
  • 1000 Hz: เสียงร้องคนปกติ
  • 2000 Hz: เครื่องดนตรีเสียงแหลม เช่น ไวโอลิน เครื่องดนตรีในวงออร์เคสตร้า
  • 4000 Hz: ความใกล้ไกลของเสียง
  • 8000 Hz: เสียง Hiss
  • 16000 Hz: เสียงสังเคราะห์


ซึ่งการปรับ Equalizer ให้ได้ผลตามที่ต้องการก็เพียงใช้งานหูฟังฟังเพลงที่ถูกใจหรือฟังเป็นประจำ จากนั้นสังเกตุว่าเสียงย่านไหนที่น้อยเกินไป หรือหายมากจนเกินไปที่ส่งผลให้ฟังแล้วฟังไม่สนุก จากนั้นก็ไปเพิ่มหรือลดย่านเสียงที่หายไปนั้นๆ ใน Equalizer ให้เสียงที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปนั้นมีความลงตัวมากที่สุด โดยระวังไม่ให้การระดับเสียงในย่านนั้นๆ เกิน 3 - 6 dB เพราะอาจจะทำให้เสียงเปลี่ยนไปเลย และอาจส่งผลเสียต่องแก้วหูได้ครับ


จากขั้นตอนที่กล่าวมาในขั้นต้นทั้งหมด เท่านี้ผู้ใช้งานก็จะสามารถ ฟังเพลงจากหูฟังให้ได้เสียงที่ถูกใจและตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด หรือทำให้หูฟังนั้นขับเสียงได้เพราะมากที่สุดนั่นเอง และทั้งหมดนี้ก็คือ วิธีปรับ Equalizer หูฟัง ทำอย่างไร ยากง่ายแค่ไหน ที่ต้องบอกเลยว่าการที่จะปรับเสียง EQ นั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดาย มีหลักการในการปรับ EQ ที่ไม่ยากจนเกินไป และผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้วิธีปรับได้ด้วยตนเอง มีขั้นตอนในการปรับเพียงไม่กี่ขั้นตอน และใช้เวลาในการสังเกตุและเรียนรู้วิธีปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสำหรับครั้งนี้ mercular.com ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยครับ และในครั้งหน้าหากมีข้อมูลใดที่เป็นประโยชน์อีกก็จะรีบนำมาแนะนำกันอย่างแน่นอนครับ สำหรับครั้งนี้สวัสดีครับ

article-banner-1
article-banner-2