อยากเริ่มทำเพลงต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง?

21 พ.ย. 2566

อยากเริ่มทำเพลงต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง?

อยากเริ่มทำเพลงต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง?

มีมือใหม่หลายๆคนอยากจะลองเริ่มต้นทำเพลงดูบ้าง แต่ส่วนใหญ่แม้จะมีความรู้ด้านดนตรีแต่ความรู้ด้านอุปกรณ์ทำเพลงต้องเรียกว่าเริ่มจากศูนย์กันเลยทีเดียว ดังนั้นวันนี้จะมาแนะนำกันง่ายๆเบาๆว่า ถ้าอยากจะลองเริ่มทำเพลงจากต้องมีอุปกรณ์อะไรกันบ้าง


1. คอมพิวเตอร์


แน่นอนว่าจะทำเพลงก็ต้องมีคอมฯ ก่อน แต่คำถามยอดฮิตคือ สเปกคอมต้องแรงขนาดไหนถึงจะทำเพลงได้ราบรื่นไม่กระตุก? ซึ่งถ้าเดินไปถามตามร้านประกอบคอมฯ ทั่วไป ก็คงตอบให้ไม่ได้เพราะร้านคอมส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบคอมฯมาให้คนทำเพลง ดังนั้นการเลือกส่วนประกอบต่างๆเราต้องรังสรรค์มันขึ้นมาเอง จริงๆวิธีเลือกก็ไม่ได้ยาก เพราะการทำคอมฯเพื่อการผลิตผลงานเพลงนั้นมันก็จะค่อนข้างกินสเปกเหมือนกับคอมฯเพื่อเล่นเกมส์นั่นเอง การเลือกสเปกที่ดีก็จะช่วยให้ใช้งานง่านและสะดวกยิ่งขึ้น


CPU


ทุกคนคงรู้ว่า CPU เปรียบเสมือนสมองของคอมพิวเตอร์ทั้งหมด การประมวลผลจะเร็วหรือช้า จะประมวลผลพร้อมกันหลายๆ อย่างได้ราบรื่นแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ CPU ทั้งนั้น ในการทำเพลงนั้น CPU จะมีผลมากกับค่าความหน่วง (Latency) หรือดีเลย์ของสัญญาน โดยเฉพาะเวลาที่เพลงของคุณเริ่มซับซ้อน เริ่มมีหลาย Tracks (หลายเครื่องดนตรี) หรือเริ่มมี Audio Processing Plugins เยอะ (พวกตัวแต่งสัญญาณเสียงทั้งหลาย เช่น Equalizer, Compressor, Reverb, ฯลฯ)

ถ้าโปรเจคมีความซับซ้อนมากๆ คอมพิวเตอร์ก็จะต้องใช้เวลาในการประมวลผลมากขึ้น ถ้าถึงจุดที่มันประมวลผลไม่ไหวหรือไม่ทัน คุณก็ต้องช่วย CPU โดยการเพิ่ม I/O Buffer Size เข้าไปเพื่อให้ระบบช่วยเรียงลำดับการประมวลผล แต่ปัญหาคือพออัด I/O Buffer Size มากๆเข้า มันก็จะเกิดค่า Latency สูงด้วยเช่นกัน โดยปรกติจะมีผลเวลาที่เราจะร้องและบันทึกเสียงพร้อมเครื่องดนตรีหลายๆชิ้นพร้อมกัน ผลก็คือเวลาคุณอัดเสียงคุณก็จะได้ยินเสียงที่อัด กลับเข้ามาในหูฟังช้ากว่าเสียงที่คุณเพิ่งร้องไป ซึ่งมันจะรบกวนและทำให้คุณเสียสมาธิในการร้องเพลง เหมือนถูกเสียงตัวเองพูดแทรกตลอดเวลา และทำให้ไม่สามารถกะน้ำหนักเสียงและโทนตอนที่ร้องได้ นี่คือข้อเสียของ CPU ที่แรงไม่พอ


สำหรับสเปก CPU ที่แนะนำจริงๆ ถ้าเป็น Intel ก็คือต้องเป็น Core i7 ขึ้นไป ส่วนถ้าเป็น AMD ก็ควรจะเป็น Ryzen 7 ขึ้นไป แต่สำหรับมือใหม่ ถ้าไม่ได้ใช้ถึง 100 Tracks ลำพัง Core I5 ขึ้นไปก็พอเพียง


RAM


RAM ก็เปรียบเสมือนขนาดของโต๊ะทำงาน ยิ่งขนาดใหญ่ก็ยิ่งวางของได้มาก ซึ่งในการทำเพลงนั้น RAM จะมีผลมากกับ Sample Library ขนาดใหญ่ๆ เพราะหลักการทำงานคือ เวลาคุณโหลดเสียงเครื่องดนตรีขึ้นมา เสียงจาก Sample Library (เช่น เสียงเปียโนขนาด 2 GB) จะถูกโหลดเข้ามาเก็บใน RAM เพื่อรอคำสั่ง พอคุณกด MIDI Keyboard สัญญาณ MIDI ก็จะไปดึงเสียงที่เก็บไว้ใน RAM แล้วเล่นออกมาทางลำโพง ดังนั้นขนาดของ RAM ที่แนะนำขั้นต่ำในการทำเพลงคือ 8GB แต่ถ้าคุณมี Sample Library ขนาดใหญ่ก็ควรจะมี RAM 16GB ขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ


การ์ดจอ


เป็นส่วนที่ไม่มีผลอะไรกับการทำเพลง ยกเว้นว่าคุณจะอยากต่อจอ Monitors หลายๆ จอเพื่อความสะดวกในการทำงาน ดังนั้นไม่แนะนำให้ลงทุนกับการ์ดจอเยอะครับ (ยกเว้นจะเอาไว้เล่นเกมส์ด้วย) เดี๋ยวนี้การ์ดจอ On-board ส่วนใหญ่ก็สามารถต่อออกจอหลายจอได้โดยไม่มีปัญหาแล้ว


ฮาร์ดดิสก์ (HDD/SSD)


ในส่วนของการเก็บข้อมูล แน่นอนว่า SSD ดีกว่า HDD แทบจะในทุกๆ ด้าน แนะนำว่าสำหรับการเก็บ Sample Library ควรใช้ SSD เพราะเครื่องดนตรีต่างๆ จะโหลดขึ้นมาได้เร็วกว่าหลายเท่า และการที่ข้อมูลถูกส่งจาก SSD ไป RAM ได้รวดเร็วก็ทำให้ RAM ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องสำรองข้อมูลไว้เยอะเพื่อรอการเรียกใช้ แต่จริงๆ แล้ว HDD ก็ทำงานได้เหมือนกันถ้าคุณไม่ได้ใช้ RAM จนเต็ม เพียงแต่คุณอาจจะต้องรอเครื่องดนตรีต่างๆ โหลดขึ้นมานานหน่อย ถ้าเริ่มต้นแนะนำให้ใช้ฮาร์ดดิสก์ที่ติดมากับเครื่องสำหรับ OS และโปรแกรมต่างๆ เท่านั้น และหา HDD USB3.0 ขนาด 1TB มาเก็บ Sample Library ครับ


Mac หรือ Windows ดีกว่า?


การเลือก Mac หรือ Windows อาจจะมีผลกับการเลือกซอฟต์แวร์ Digital Audio Workstation (DAW) หลักของคุณ เพราะบางโปรแกรมรันเฉพาะบน Mac เช่น Logic Pro X แต่จริงๆ แล้ว Mac ก็มีข้อเสียอยู่หลายโดยเฉพาะเรื่องราคาที่แพงมาก กับการเลือกสเปกที่ต้องเลือกตั้งแต่ตอนซื้อเลย ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทีหลัง ข้อดีก็อยู่ที่ระบบปฏิบัติการ Mac OSX ที่ใช้งานง่าย กับ port ความเร็วสูงอย่าง thunderbolt 3 ที่มากับเครื่อง แต่ทาง Windows ก็ยังมี DAW ดีๆ ให้ใช้อีกเยอะเช่น Cubase, Digital Performer, Pro Tools, Ableton, ฯลฯ

อยากเริ่มทำเพลงต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง?

2. Digital Audio Workstation (DAW)


DAW คือโปรแกรมที่ใช้สำหรับบันทึกและปรับแต่งเสียง ส่วนมากมีการทำงานคล้ายกันคือจะมี Tracks ต่างๆ เป็นแถวแนวนอน, มี Audio Regions หรือ MIDI Regions ของเครื่องดนตรีต่างๆ, มี Audio Editor และ Piano Rolls สำหรับปรับแต่ง, มีส่วนของ Mixer สำหรับปรับความดัง-เบาและใส่ plugins ให้กับแทร็กต่างๆ DAW ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันได้แก่


  • Apple’s Logic Pro X (Mac) ซอฟท์แวร์ยอดนิยม ราคาถูก มีเครื่องดนตรีและ Plugins ต่างๆ แถมมาครบ
  • Steinberg’s Cubase 9.5 (Mac/Windows) ซอฟท์แวร์ทำเพลงยอดนิยมฝั่ง Windows
  • Avid’s Pro Tools (Mac/Windows) ซอฟท์แวร์มาตรฐานสตูดิโออัดเสียงส่วนใหญ่ทั่วโลก
  • Ableton Live 10 เป็นที่นิยมในกลุ่มคนทำเพลง Electronic Music
  • Digital Performer 9 เหมาะกับการทำ MIDI เป็นพิเศษ


สำหรับคนเริ่มต้นแนะนำให้ลองเลือกจาก List ด้านบนมา 1 ตัวแล้วลองใช้ฟรีดูก่อน (Free Trial) ถ้าชอบค่อยตัดสินใจว่าจะซื้อดีไหม ซื้อตัวไหนดี ถ้าราคาถูกสุดน่าจะเป็น Cubase 9.5 Elements กับ Ableton Live 10 Intro แต่ถ้างบน้อยกว่านี้ลองดู FL Studio Fruity Edition หรือ Reason 10 Intro (จริงๆการเลือก DAW จะสัมพันธ์กับการใช้งาน Plug-in ด้วย ซึ่ง DAW บางตัว Plugins อาจจะไม่เยอะ แต่ราคาไม่แรง ส่วนบางตัวอาจจะมี Plugins เยอะ แต่ราคาแรง และบาง DAW มี Free Plugins เพียบก็มี ดังนั้นต้องลองเลือกกันดูก่อนซื้อ เพราะบางครั้งเราก็อาจจะไม่ได้ใช้ Plugins ครบทุกตัวขนาดนั้น อาจจะเลือก DAW ที่ interface ดูแล้วเราเข้าใจง่าย Plugins ที่ใช้มีครบ ซึ่งก็จะพอกับการใช้งานของเราโดยไม่ต้องจ่ายแพงมากเกินไป

อยากเริ่มทำเพลงต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง?

3. Soundcard (Audio Interface)


Audio Interface หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่าซาวด์การ์ด คือตัวกลางในการแปลงสัญญาณระหว่าง Digital ไปเป็น Analog ( DAC ) และตัวกลางในการแปลงจาก Analog มาเป็น Digital ( A2D ) อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีการอัดเสียงเช่น เสียงร้อง คุณก็ต้องใช้ไมโครไฟนที่แปลงเสียงของคุณให้เป็นสัญญาณ Analog สัญญาณนี้ก็จะเดินทางผ่านสายเข้าไปใน Audio Interface แล้วถูกแปลงเป็นดิจิตอล บันทึกเก็บเอาไว้ในคอมฯ ของคุณ กระบวนการนี้เรียกว่า Analog-to-Digital Conversion ในทางกลับกัน เวลาคุณ playback เสียงนั้น ข้อมูลดิจิตอลที่บันทึกไว้ในคอมฯ ก็จะส่งเข้าไปหา Audio Interface เพื่อแปลงเป็น Analog แล้วส่งต่อไปที่ลำโพงหรือหูฟังของคุณ ให้มีเสียงออกมา อันนี้คือ Digital-to-Analog Conversion


ต้องบอกก่อนว่า โดยทั่วไปคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องมีตัวแปลง Digital to Analog และ Analog to Digital ติดมากับเครื่องอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เหมาะที่จะใช้งานเพื่อการบันทึกเสียงในระดับจริงจัง เพราะลำพังช่อง input สำหรับไมค์ก็เป็นแค่ช่อง 3.5 ไม่รองรับไมค์เกรดระดับสูง โดยเฉพาะไมค์แบบ Condenser ที่สำคัญ อุปกรณ์ Audio Interface จะช่วยให้อัดเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการต่อเค้าที่เครื่องผ่าน Soundcard on board ทำให้คุณภาพเสียงที่ออกลำโพงดีขึ้น และทำให้แยก Output ไปออกลำโพงพร้อมและหูฟังได้


4. MIDI Keyboard


MIDI Keyboard หรือ Controller Keyboard บ้านเราจะมีอีกชื่อนึงว่า “คีย์บอร์ดใบ้” หน้าตาจะเหมือนกับคีย์บอร์ดเปียโน แต่กดแล้วไม่มีเสียงอะไรออกมา เอาไว้สำหรับเล่นกับ Sample Library ของคุณ โดยการโหลดเครื่องดนตรีขึ้นมาใน DAW แล้วเราจะสามารถใช้ MIDI Keyboard เล่นเพลงได้เหมือนเป็น Keyboard เล่นเพลงจริงๆ แต่เสียงจะไปออกที่ลำโพงแล้วก็ขึ้นบน Track ทน ปรกติจะออกแบบมาเพื่อให้นักแต่งเพลงสามารถทำเพลงได้อย่างสะดวก แต่ถ้าถามว่าไม่มี MIDI Keyboard ทำเพลงได้มั้ย ตอบเลยว่าได้ เพราะคุณสามารถใช้เมาส์เขียนโน้ตทีละตัว ปรับ Velocity ทีละตัวได้ หรือแม้แต่ลากเส้น MIDI CC เองก็ได้เช่นกัน คนทำเพลง EDM เก่งๆ บางคนอย่าง Deadmau5 ก็ใช้เมาส์ทำเพลงได้โดยไม่ต้องมี MIDI Keyboard ด้วยซ้ำ แต่ MIDI Keyboard จะช่วยให้คุณเล่น MIDI Instrument บางอันได้สะดวกขึ้น สนุกขึ้น


ปกติ MIDI Keyboard จะมีทั้งแบบเป็นลิ่มนิ้วขาวดำเฉยๆ กับแบบมี Faders และ Knobs มาเยอะๆ ซึ่ง ของเล่นเสริมพวกนี้คุณจะเอาไว้ควบคุม parameter อะไรของเครื่องดนตรีก็ได้ไม่ว่าจะเป็น Volume, Expression, Panning, ฯลฯ การเลือก Keyboard ก็แล้วแต่ชอบเลยถ้าคุณเป็นนักเปียโนก็อาจจะชอบ 88 คีย์ถ่วงน้ำหนัก ถ้าไม่ใช่นักเปียโนอาจจะ 61 คีย์ก็พอ หรือถ้าเน้นเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆ ก็อาจจะเน้นขนาดเล็กๆ อย่าง 25 คีย์แบบไม่ต้องถ่วงน้ำหนักคีย์ อันนี้แล้วแต่ชอบจริงๆ ถ้ายี่ห้อที่เห็นใช้กันเยอะก็จะมี M-Audio, Novation, Korg, Akai, Native Instruments เป็นต้น บางอันจะแถม Sample Library มาให้ใช้ด้วยนะ


อยากเริ่มทำเพลงต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง?

5. Sample Libraries และ Audio Processing Software


Sample Library ก็คือเสียงที่ถูกบันทึกไว้ในรูปของไฟล์ต่างๆ ซึ่งเสียงใน Sample Library จะมีทั้งเสียงที่สังเคราะห์ขึ้น และเสียงที่บันทึกจากเครื่องดนตรีจริงๆ ส่วนที่เรียกว่า MIDI ก็คือ file Coding คำสั่งที่ทำหน้าที่สั่งให้เล่นไฟล์เสียงใน Sample Library นั่นเอง 


ปรกติเวลาทำเพลง เราจะใช้ Sample Library ร่วมกับ MIDI Keyboard ซึ่งทุกครั้งที่คุณกดโน้ตบน MIDI Keyboard ตัวซอฟต์แวร์ก็จะเล่นเสียงเปียโน เสียงกลอง เสียงกีตาร์ หรือแม้แต่เสียงคนร้องออกมา ตามแต่ที่เราตั้งค่าให้ในแต่ละ Key บน MIDI Keyboard นั่นเอง


ส่วน Audio Processing Software คือซอฟท์แวร์ที่ปรับแต่งเสียงให้เปลี่ยนไปในทางต่างๆ เช่น Equalizer, Compressor, Delay, Reverb เป็นต้น โดยปกติเวลาซื้อ DAW ก็จะมี Sample Library และ Audio Processing Software แถมมาด้วยอยู่แล้ว แต่การมีเสียงใหม่ๆ จาก Sample Library ใหม่ๆ ก็ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับเพลงที่คุณทำ เหมือนกับการมีเครื่องดนตรีใหม่ๆ ไว้เล่นนั่นเอง ส่วนการมี Audio Processing Softwares ใหม่ๆ ก็จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นหลากหลายในการมิกซ์เสียงของคุณให้มากขึ้น

สำหรับผู้เริ่มต้น ผมแนะนำว่าให้ใช้ Sample Library และ Audio Processing Software ฟรีที่แถมมากับ DAW ของคุณจนชำนาญก่อน แล้วค่อยเริ่มหา Sample ใหม่ๆ มาเล่น ค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ ฝึกไปทีละอัน เพราะท้ายที่สุดแล้วดนตรีที่ดีมันอยู่ที่ไอเดียมากกว่าที่งบประมาณ การไล่ซื้อ Sample ทุกตัวที่เสียงเพราะ ไม่ได้ทำให้เพลงคุณเสียงดีขึ้น การฝึกฝนกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในมือจนชำนาญต่างหาก ที่จะทำให้คุณทำเพลงเก่งขึ้น


6. ไมโครโฟน


ไมค์ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างนึงในการทำเพลง ไมค์แต่ละตัวจะมีคาแรคเตอร์เสียงที่แตกต่างกัน และมีความไวในการรับเสียงไม่เท่ากัน โดยพื้นฐานแล้วถ้าอยากได้ไมค์สักตัวไว้สำหรับอัดเสียงร้อง แล้วงบไม่เยอะ แนะนำให้ใช้ไมค์ไดนามิคมาตรฐานอย่าง Shure SM57/SM58 ซึ่งไมค์ตัวนี้จะช่วยให้เสียงร้องมีความหนา เหมาะกับนักร้องชาย หรือนักร้องผู้หญิงที่มีเสียงโทนต่ำ ๆ แต่ถ้าเป็นนักร้องที่ร้องเสียงเบา หรือมีโทนเสียงที่ค่อนข้างสูง แนะนำให้ไปที่ไมโครโฟนแบบคอนเดนเซอร์ ที่ราคาไม่แพงมาก เช่น Rode, Audio Technica เพราะไมค์แบบนี้จะจับเสียงสูงได้ดี และมีความไวในการรับเสียงที่ดีมาก แต่มีข้อเสียคือห้ามทำหล่นเด็ดขาด เพราะจะไมค์แบบคอนเดนเซอร์ถ้าหล่นกระแทกพื้น จะมีโอกาสพังสูง


หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า ไมค์แพง ๆ ให้เสียงดีกว่าถูก ๆ จริงหรือไม่ อันนี้ขอบอกว่า ใช่และไม่ใช่ จริงๆไมค์ราคาแพงคุณภาพสูง มักจะมาพร้อมอุปกรณ์เกรดดีๆ ดังนั้นถ้าบอกตามตรงคือยังไงไมค์แพงย่อมให้เสียงที่ดีกว่าไมค์ถูกๆแน่ๆ แต่ ไมค์เองก็มีบุคลิกเสียงของตัวเอง และไมค์บางอย่างก็ออกแบบให้รับเสียงเฉพาะด้านเป็นพิเศษ ดังนั้นอย่าคิดว่าไมค์แพงกว่าแล้วเสียงจะดีกว่าเสมอไป มันมีตัวแปรอีกหลายอย่างเช่น สภาพแวดล้อมในการอัดเสียง ประเภทของไมโครโฟน ฯลฯ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะมีผลกับเสียงอย่างมาก เสียงที่ดีเกิดจากการเลือกไมค์ที่ตรงตามคาแรคเตอร์ที่เราต้องการ และใช้ไมค์ได้ตรงกับที่เค้าออกแบบมาเท่านั้นเอง

บางคนมักจะถามว่า Pop filter จำเป็นหรือไม่ ดังนั้นขอตอบตรงๆว่า “จำเป็นมาก” โดยเฉพาะเวลานำไปใช้กับไมค์แบบคอนเดนเซอร์ ปรกติถ้าเป็นไดนามิกเราสามารถหุ้มฟองน้ำแล้วใช้ filter ในโปรแกรมช่วยแก้ป๊อปได้ แต่ถ้าเป็นคอนเดนเซอร์ซึ่งเป็นไมค์ที่มีความไวสูงมาก มันจะค่อนข้างแก้ได้ยากกว่า ดังนั้นการใช้ Pop filter จะดีที่สุด

อยากเริ่มทำเพลงต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง?

7. ลำโพงมอนิเตอร์


อุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายที่สุดแสนจะสำคัญ คือ “ลำโพงมอนิเตอร์” ลำโพงมอนิเตอร์เป็นสิ่งที่หลายๆคนมักเข้าใจผิดว่า มันเป็นต้องเป็นลำโพงที่ให้เสียง FLAT เป็นลำโพงที่เที่ยงตรงฟังเพลงไม่เพราะ แต่ฟังแล้วชัดแต่จริงๆแล้ว คำว่า “เสียง FLAT” ไม่มีอยู่จริง แต่ที่พูดติดปากว่า FLAT นั้น หมายถึงเสียงที่ไม่มีการปรับย่าน EQ ใดๆขึ้นไป ซึ่งมันจะอยู่สภาพที่เรียกว่า “FLAT” ดังนั้นความหมายมันคือ ลำโพงที่ไม่มีความคัลเลอร์ใดๆ นั่นเอง หรือพูดง่าย ๆคือโทนนัลบาลานซ์ต้องดี และไม่มีย่านใดที่เด่นออกมาจนมากเป็นพิเศษ เพราะถ้าลำโพงเกิดเด่นย่านใดย่านนึงขึ้นมา เมื่อเรานำไปมิกซ์เพื่อทำงานเพลง พอจบที่ทำ Mastering ออกมาแล้ว เวลาไปเปิดลำโพงธรรมดา เสียงย่านนั้นจะบางเบาขึ้นมาทันที ดังนั้น ลำโพงมอนิเตอร์จึงต้องรักษาความเป็นกลางมากที่สุด ทุกวันนี้เราจะนิยมเรียกว่า ลำโพงที่ให้เสียงเป็นกลาง มากกว่า ลำโพงเสียง FLAT 


ลำโพงมอนิเตอร์เองก็ยังแยกออกเป็นลำโพงสำหรับงานมอนิเตอร์หลายๆแบบ เช่น ลำโพง Monitor สำหรับงาน broadcast , ลำโพง Monitor สำหรับงาน DJ , ลำโพง Monitor สำหรับ On Stage ซึ่งสิ่งที่แตกต่างของลำโพงเหล่านี้คือการจูนย่านเสียงเฉพาะบางอย่างให้เด่นชัดเพื่อใช้งานตามที่ต้องการ เช่น ในงาน broadcast ก็จะเน้นเสียงกลางเป็นหลัก หรือของงาน DJ ก็ต้องเด่นเสียงสูงและเสียงเบส เป็นต้น ดังนั้นการเลือกซื้อลำโพงมอนิเตอร์ เราก็ต้องรู้จักกันมันด้วย เพราะถ้าซื้อผิดชีวิตเปลี่ยนทันที แต่โดยส่วนใหญ่พวกลำโพง Monitor เฉพาะด้านจะหาซื้อยากกว่าลำโพงเพื่อทำงานเพลงอยู่แล้ว ดังนั้นแค่ถามร้านที่ซื้อว่าจะเอาลำโพงไปใช้งานด้านใด ร้านที่เชี่ยวชาญก็จะเลือกให้เราเอง


ลำโพงแบบมอนิเตอร์นอกจากจะให้เสียงเป็นกลางแล้ว มันยังเป็นลำโพงที่ถูกออกแบบมาให้มีความทนทานกว่าลำโพงทั่วๆไป รับแรงสั่นสะเทือนจากเสียงได้ในมาก เรียกว่ารองรับกำลังขับแบบ Overloaded ได้ดีและนานกว่าลำโพงบ้าน ดังนั้นลำโพงบ้านที่เต็มไปด้วยการจูนและปรุงแต่งจึงไม่เหมาะในการนำมาใช้เป็นลำโพงมอนิเตอร์ 


ทั้งหมดนี้คืออุปกรณ์พื้นฐานเริ่มต้นในการทำเพลง แต่ถ้าคิดจะผลิตผลงานในระดับที่สูงขึ้นในระดับงาน Studio ก็จะต้องมีองค์ประกอบที่มากกว่านี้ ทั้งการปรับ Acoustic ของห้องให้ดี และต้องเพิ่มอุปกรณ์อีกมากมาย ดังนั้นถ้างบจำกัดและไม่ได้เน้นทำเพลงแบบจริงจังเพื่อส่งออกสื่อใหญ่ๆ ลำพังอุปกรณ์ที่แนะนำมาทั้งหมด ก็เพียงพอที่ผลิตผลงานในระดับใช้งานได้ และออก youtube ได้สบายๆเลย

best-seller-ads
article-banner-1
article-banner-2