ศัพท์เครื่องเสียงเบื้องต้น สำหรับมือใหม่ ตอนที่ 2
13 มี.ค. 2560
จากบทความศัพท์เรื่องเสียงตอนที่แล้ว (อ่านได้ใน “ศัพท์เครื่องเสียงเบื้องต้น สำหรับมือใหม่”) ที่เราได้กล่าวถึงศัพท์เบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องย่านเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงสูง เสียงกลาง เสียงต่ำ ที่จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารแนวเสียงที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง และได้หูฟังที่ “ถูกใจ” มากขึ้น ซึ่งในวันนี้ Mercular.com จะมาแนะนำคำศัพท์เกี่ยวกับเรื่องเสียงเพิ่มเติม ให้คนที่กำลังมองหาหูฟัง หรือลำโพงสามารถเลือกอุปกรณ์คู่ใจได้ ถูกใจมากยิ่งขึ้นไปอีกขั้น
หัวเสียง หรือ IMPACT
Impact หมายถึงสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตนั่นเอง...ถุ๋ย!! นั่นมัน Impact Arena!! สำหรับหัวเสียง หรือ Impact ตามทฤษฎีหมายถึง สัญญาณเสียงแรกที่เครื่องดนตรีถูกกระทำมาถึงหูของเรา หรือพูดง่ายๆเป็นภาษาทั่วไปคือแรงปะทะที่เกิดขึ้นจากการถูกกระทำนั่นเอง เช่น แรงปะทะของไม้กลองที่ถูกฟาดลงไปยังกลอง หรือเสียงที่เกิดจากการเคาะเหล็กสามเหลี่ยม Triangle ที่เป็นเครื่องดนตรีประกอบ ซึ่งจะมีขนาด Impact เล็กกว่าการตีกลอง ซึ่งทั้งสองเครื่องดนตรีมีความเร็วในการมาถึงหูของเราต่างกันขึ้นอยู่กับความถี่ โดยหูฟังหรือลำโพงที่มีหัวเสียง หรือ Impact ที่ดี จะต้องให้หัวเสียงที่มีความชัดเจน เร็ว มีมวลอิ่มและขนาดที่สมจริง ส่งผลถึงตัวเสียง (Image) พอสมควร
ภาพของเสียง (Image)
Image หรือภาพของเสียงดนตรี ซึ่งก็คือสิ่งที่เราสามารถหลับตาแล้วจินตนาการได้นั่นเอง โดย Image จะครอบคลุมหมดไม่ว่าจะเป็นรูปร่างของชิ้นดนตรี นักร้อง ซึ่งสิ่งที่เราใช้อธิบาย Image ของเสียงคือขนาดเล็ก-ใหญ่ครับ โดย Image ก็จะไปเกี่ยวข้องกับเวทีเสียงครับ เพราะขนาดของเสียงก็ต้องมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ หรือเวทีที่มีอยู่ด้วยครับ
เวทีเสียง (Soundstage)
เวทีเสียงถือเป็นหนึ่งพื้นฐานสำคัญของการฟังเพลงที่เราสามารถใช้ในการแยกแยะหูฟังหรือลำโพงได้ โดยเวทีเสียงหมายถึง อาณาเขตของเสียงที่เรียงตัวโดยรอบในอากาศ ซึ่งหากเรามองจริงๆแล้วเวทีเสียงจะแบ่งได้ 2 แนวคือ
- เวทีเสียงแนวด้านกว้าง – คือ การเรียงตัวในแนวระนาบ โดยหากเราหันหน้าเข้าหาเวที จะเห็นความกว้างของเวทีในแนวซ้าย-ขวา นั่นเอง
- เวทีเสียงแนวด้านลึก – คือ การเรียงตัวในแนวหน้า-หลัง หรือการเห็นรูปร่างของเพลงที่เราได้ยินเป็นสามมิติขึ้นมานั่นเอง
ซึ่งโดยปกติแล้วหูฟังและลำโพงแต่ละชิ้น จะมีขนาดเวทีเสียงที่แตกต่างกัน ปกติแล้วเวทีเสียงของหูฟังหรือลำโพงที่ดี จะต้องมีลักษณะกว้าง โดยกว้างอย่างพอดีกับ image ของชิ้นดนตรี เพราะถ้าเวทีเสียงแคบเสียงดนตรีแต่ละชิ้นก็จะเกิดการ “เกย” กัน ทำให้ผู้ฟังรู้สึกอึดอัด และเมื่อเกิดการซ้อนทับของเสียง ก็จะส่งผลให้ถ่ายทอดรายละเอียดเสียงได้ไม่ดีนั่นเอง ในขณะที่ถ้าหากเวทีเสียงกว้างมากเกินไป จนเสียงดนตรีไม่สามารถ “เติมเต็ม” ทั้งเวทีได้ ก็จะทำให้บรรยากาศของการฟังเพลงนั้นรู้สึก “โหรงเหรง” ฟังได้ไม่เต็มอิ่มนั่นเอง
“นึกภาพเวทีคอนเสิร์ตที่มีพี่ก้องร้องเพลงอยู่บนเวที ด้านหลังเป็นกลอง ส่วนทางซ้ายและขวา เป็นกีตาร์กับเบส ถ้าเวทีเสียงที่ดี เราจะสามารถแยกซ้ายขวาระหว่างตัวพี่ก้องกับกีตาร์และเบส ได้อย่างไม่ต้องเพ่งมากนัก แต่หากเวทีเสียงแคบ ทั้งกีตาร์ พี่ก้อง และเบส ก็จะมารวมกระจุกกันอยู่ตรงกลางเวที ก็จะทำให้เกิดความอึดอัด และได้ยินเสียงดนตรีไม่ครบถ้วนนั่นเอง”
ซึ่งเวทีเสียง หรือ Sound Stage ที่ดีมักจะทำให้เกิด “มิติ” ตามมา ซึ่ง “มิติ” หมายถึง ภาพลักษณ์ความเป็นสามมิติของเวทีเสียง ซึ่งเกิดจากการจัดเรียงตัวกันของชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นตามที่ยกตัวอย่างข้างต้นให้นั่นเอง มีทั้งด้านกว้างและแคบ ด้านลึกและตื้น ในขณะเดียวกันตัวชิ้นดนตรีเองก็ต้องมีลักษณะหรือรูปทรงที่ให้ความเป็นมิติด้วยเช่นกัน สำหรับลำโพง ตำแหน่งการจัดวางมีผลต่อ “มิติ” ของเวทีเสียงเป็นอย่างมากครับ
การไต่ระดับของเสียง หรือ ไดนามิก (Dynamic)
มันคืออะไรหว่า!? ผู้อ่านหลายคนอาจจะยังงงๆ นึกภาพไม่ออก ไม่เป็นไร เพราะส่วนมากเพลงที่เราฟังมักจะแยกแยะกันไม่ค่อยออก โดยแนวเพลงที่แยกออกมักจะเป็นเพลงที่มีเครื่องดนตรีประเภทสีอยู่ อย่างเช่นไวโอลิน เป็นต้น ซึ่ง ไดนามิก สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ไดนามิก-คอนทราสต์ คือ การไต่ระดับของเสียงไล่ไปอย่างต่อเนื่องและละเอียดอ่อน ขึ้นลงอย่างมีจังหวะ ทอดตัวช้าๆ โดย ไดนามิก-คอนทราสต์ ที่ดีต้องมีความละเอียดอ่อน ไหลลื่น (Smooth) พริ้ว ได้อารมณ์
- ไดนามิก-ทรานเชี้ยนต์ คือ การไต่ระดับของเสียงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใด ซึ่งไดนามิก-ทรานเชี้ยนต์ ที่เหมาะสม ต้องมีท่วงทำนองการไต่ระดับที่ดี ทำให้เกิดความสมจริงของเสียงนั่นเอง
จบกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับคำศัพท์เบื้องต้น ตอนที่ 2 ที่เราได้นำมาเสนอให้กับคุณผู้อ่านทุกท่านในวันนี้ สำหรับใครที่มีข้อสงสัย หรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถส่งข้อความมาที่ Facebook: Mercular.com ได้เลยครับ