Audio101: เครื่องเล่นแผ่นเสียงคืออะไร

28 พ.ย. 2566

Audio101: เครื่องเล่นแผ่นเสียงคืออะไร

เครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ Turntable Music Player เริ่มกลับมาได้รับความนิยมตั้งแต่เมื่อ 3 - 4 ปีก่อน โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงหลาย ๆ แบรนด์ต่างก็เริ่มเปิดไลน์ Product สินค้าทางฝั่งเครื่องเล่นแผ่นเสียงออกมาเรื่อย ๆ ถึงขนาดที่ว่าแบรนด์ Sony เจ้าตลาด Electronics เองก็ยังทำเครื่องเล่นแผ่นเสียงของตัวเองออกมาเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้นเพราะแบรนด์อย่าง Audio-Technica ก็ยังจับเอารุ่นยอดนิยมในอดีตมาปัดฝุ่นใหม่ออกขาย แสดงให้เห็นว่ากระแสของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเองก็ยังคงดีอยู่จนถึงปัจจุบันนั่นเอง

ทำความรู้จักกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง

Audio101: เครื่องเล่นแผ่นเสียงคืออะไร

ในการที่จะทำความรูัจักกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงหรือทราบว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงคืออะไร ก่อนอื่นข้อมูลที่ควรรู้เบื้องต้นนั้นประกอบไปด้วย เครื่องเล่นแผ่นเสียงมีรูปแบบและประเภทแบบใดบ้าง เพราะแต่ละแบบก็จะมีรูปแบบการทำงานและความยุ่งยากในการใช้งานที่แตกต่างกันดังนี้


1. Automatic


เครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นจริง ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ระบบใหญ่ คือ แบบ Automatic, Semi Automatic และ Manual ซึ่งทั้งสามแบบก็จะเหมาะกับระดับความถนัดของคนใช้ ถ้าเป็นมือใหม่จริง ๆ และกลัวความยุ่งยากของ Turntable ก็อยากจะแนะนำให้ใช้ระบบ Automatic ไปก่อนจะดีกว่า ปัจจุบันพวกเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบนี้เสียงก็ให้เสียงที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก มีการใช้งานที่ง่ายเพียงแค่เอาแผ่นวางแล้วกด Play เครื่องเล่นเพลงก็จะเอาเข็มมาวางลงบนแผ่นให้โดยอัตโนมัติ จบเพลงก็จะดึงอาร์มกลับเก็บเข็มลงที่จุดวางเหมือนเดิม แต่แม้จะใช้งานสะดวกแต่ก็มีข้อเสียคือ ความนิ่งในการฟังจะสู้อีก 2 แบบไม่ได้ และการ Upgrade ระบบรวมถึงตัวเครื่องเป็นไปได้ยากกว่า เพราะไม่สามารถเปลี่ยนโทนอาร์มและ Headshell ได้ แต่ยังสามารถเปลี่ยนเฉพาะหัวเข็มได้ซึ่งเมื่อเปลี่ยนได้น้อยอย่างก็จะมีตัวเลือกที่น้อยกว่า แน่นอนว่าแม้จะไม่สามารถ Upgrade ได้แต่ก็แลกมาด้วยข้อดีในเรื่องของการใช้งานที่สะดวกกว่ามากๆ เหมาะกับคนที่ซื้อเพื่อเน้นฟังไม่ได้ตั้งใจจะเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงเท่านั้น ไม่ได้ต้องการ Upgrade อะไรมากมาย


2. Semi-Automatic


สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Semi Automatic จะอยู่ระหว่างความเป็น Automatic และ Manual ซึ่งความเป็น Semi Automatic แต่ละแบรนด์จะไม่เหมือนกัน บางรุ่นตัวโทนอาร์มจะยกตัวเก็บเข้าที่เองเมื่อเพลงจบ อีกแบบคือตัวโทนอาร์มจะยกขึ้นเฉย ๆ เมื่อเพลงจบ ส่วนแบบสุดท้ายคือแผ่นหยุดเองเมื่อเพลงจบ แต่โทนอาร์มไม่ยก และไม่ตีกลับ จริง ๆ ข้อดีของเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบนี้คือ การลดความยุ่งยากเวลาฟังจบแผ่น เพราะการทำงานอัตโนมัติเมื่อฟังจบ อีกทั้งยังสามารถ Upgrade โทนอาร์มและ Headshell ได้ แต่ข้อเสียก็จะเหมือนกับตัว Manual คืออาจจะไม่สะดวกไปบ้างสำหรับมือใหม่เพราะจะต้องมานั่งตั้งหัวเข็มเมื่อเริ่ม Setup ครั้งแรก หรือเปลี่ยน Headshell ใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนน้ำหนักหัวเข็มนั้นจริง ๆ ก็ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป ถ้าตั้งแก่ (หนัก) เกินไป หรือ หัวเข็มกดลงแผ่นมากไป จะทำให้เสียงมี Noise เยอะ และมีโอกาสทำให้แผ่นสึกได้ไว ในทางเดียวกันถ้าตั้งอ่อน (เบา) เกินไป เสียงก็จะบางและแห้ง ไม่น่าฟัง


3. Manual


ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Manual นั้น ก็จะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบพื้นฐาน ทุกอย่างต้องทำเองตั้งแต่การวางหัวเข็มและเอาหัวเข็มกลับมาเก็บเมื่อเพลงจบ โดยที่ตัวเครื่องจะหมุนแผ่นไปเรื่อย ๆ แม้เพลงจะจบแล้วก็ตาม ข้อดือสามารถ Upgrade ชิ้นส่วนได้ทุกชิ้น เวลาที่ตัวเครื่องมีปัญหาก็สามารถดูแลได้ง่ายกว่าสองแบบแรก แต่ข้อเสียคือต้องตั้งหัวเข็มเอง และเมื่อเพลงจบก็ต้องมานั่งยกหัวเข็มเอาเอง ซึ่งถ้าในระดับนักฟังเพลงจริง ๆ ก็มักจะเลือกแบบนี้กันมากกว่า เนื่องจากความนิ่งที่ดีกว่าและความสามารถในการ upgrade ที่หลากหลายกว่า แต่สำหรับผู้ที่คิดว่าฟังเพลงก่อนนอนแล้วอาจจะเผลอหลับได้ก็ควรที่จะไปเลือกแบบ Semi Automatic จะดีกว่า เพราะแบบ Manual นั้นจะทำงานไปเรื่อย ๆ แม้เพลงจะจบแล้วก็ตามซึ่งย่อมส่งผลที่ไม่ดีต่อหัวเข็มและแผ่นเสียงอย่างแน่นอน

Audio101: เครื่องเล่นแผ่นเสียงคืออะไร

ระบบภายในของเครื่องเล่นแผ่นเสียง


ส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างนึงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ไม่ควรมองข้าม คือ กลไกในการขับเคลื่อนระบบนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันนั้นระบบกลไกภายในจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ซึ่งทั้งสามแบบต่างก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไป มาดูกันว่าทั้งสามแบบมีอะไรบ้างและแบบไหนดีหรือเด่นกว่ากัน

  

  • 1. ระบบ Direct Drive : ระบบนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่ DJ สาย Scratch อย่างมาก เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานด้านนี้โดยเฉพาะเลยทีเดียว ตัวระบบ Direct Drive จะเป็นระบบเฟืองที่ต่อเข้ามอเตอร์โดยตรง จึงทำให้มีความแข็งแรงมาก ๆ และจังหวะการหมุนจะมีความเสถียรมากๆเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาของระบบ Direct Drive คือจะมีการสั่นสะเทือนจะมอเตอร์ซึ่งจะมีผลกับคุณภาพเสียง ถ้าฟังในระดับทั่ว ๆ ไปอาจจะไม่รู้สึก แต่ถ้าขึ้นไปถึงระดับ Mid End หรือ Hi End นั้น ผลกระทบเพียงเล็กน้อยนี้จะถูกขยายออกมาในเครื่องเสียงระดับสูงทันที ทำให้ตัว Direct Drive มักไม่ได้รับความนิยมสำหรับนักเล่นแผ่นเสียงแบบจริงจัง แต่จุดเด่นของมันก็คือความทนทาน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ฟังแผ่นเสียงบ่อยๆ จะค่อนข้างเหมาะกับ Turntable ในแบบนี้ 
  • 2. ระบบ Belt Drive : ถือเป็นระบบมาตรฐานที่มีมาอย่างยาวนาน ตัวระบย Belt Drive จะใช้สายพานมาพ่วงเข้าที่ตัวมอเตอร์เพื่อขับให้จานแผ่นเสียงหมุน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดอาการสั่นจากมอเตอร์ได้เยอะมาก และการหมุนจาก Belt Drive จะมีความนุ่มนวลกว่าแบบ Direct Drive มากๆ แต่ข้อเสียคือ ถ้าสายพานขาด หย่อน หรือเสียรูปจากการเก็บรักษาไม่ดีและไม่ได้ใช้งานบ่อย ๆ ก็จะต้องลำบากซื้อสายพานใหม่มาใส่ ซึ่งถ้าเป็นเครื่องรุ่นเก่าๆก็จะยิ่งยุ่งยากขึ้นไป เพราะสายพานนั้นจะถูกออกแบบมาเฉพาะของ Turntable ตัวนั้น ๆ จะสั้นไปหรือยาวไปไม่ได้เด็ดขาด ส่วนมากระบบ Belt Drive จะเป็นที่นิยมในนักฟังเพลงระดับสูง โดยเฉพาะ Turntable ระดับราคาแพงๆก็นิยมใช้ Belt Drive กันมากกว่า
  • 3. ระบบ Magnetic Levitation : ต้องบอกว่าระบบนี้ถือว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างใหม่มาก ๆ เพิ่งจะมาพัฒนาและผลิตขายในยุคปัจจุบันนี้เอง ด้วยเทคนิคการออกแบบให้ Platter ลอยอยู่เหนือ body ของเครื่องเล่นแผ่นเสียง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสียดทานให้เหลือน้อยที่สุด และช่วยเพิ่มความนิ่งของการหมุนแผ่นให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มระยะห่างให้เสียงของสายพานไม่เข้ามากวนได้ง่าย ๆ ดังนั้นระบบนี้จึงมีความน่าสนใจอย่างมากสำหรับวงการเครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุคปัจจุบัน แต่ระบบนี้ยังมีราคาค่อนข้างแพงและมีผู้ผลิตเพียงไม่กี่เจ้า
Audio101: เครื่องเล่นแผ่นเสียงคืออะไร

หัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียง


ส่วนประกอบที่สำคัญอีกชิ้นนึงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็คือ “หัวเข็ม” นั่นเอง ตัวหัวเข็มนั้นถือเป็นหัวใจของเครื่องเล่นเลยทีเดียว สำคัญขนาดที่นักเล่นรุ่นเก่า ๆ ที่เก๋าจริง ๆ จะควานหาหัวเข็มที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดไม่เน้นเรื่องราคา จนถึงกับมีการซื้อขายหัวเข็มอันเดียวในราคาระดับล้านได้เลย เหตุที่สำคัญเพราะหัวเข็มเป็นจุดที่จะถ่ายทอดเสียงทั้งหมดจากร่องเสียงบนแผ่นไวนิล ถ้าหัวเข็มมีประสิทธิภาพสูง เสียงก็จะออกมาดีได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหัวเข็มที่นิยมในปัจจุบันจะมีหัวเข็มแบบ MM (Moving Magnet) และ หัวเข็มแบบ MC (Moving Coil) โดยมีหัวเข็มแบบ MI (Moving Iron) ที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด ดังนั้นมาดูกันว่าหัวเข็มแต่ละแบบมีจุดดีจุดเด่นอะไรบ้าง


1. หัวเข็มแบบ MM (Moving Magnet)


เป็นหัวเข็มที่พบได้ทั่วไป ราคาไม่แพง มีความทนทานสูงเหมือนเทียบกับ MC น้ำหนักไม่มากสามารถใช้ได้กับโทนอาร์มเกือบทุกรุ่นทุกประเภท และปรกติ Pre Phono จะรองรับหัวแบบ MM เป็นส่วนใหญ่ ให้สัญญาน Output ที่แรงที่ระดับ 3.0-5.0 mV ดังนั้น Phono จะขับเสียงได้ง่ายกว่า ในอดีตจะค่อนข้างมีปัญหาที่มีค่าต้านทางสูงเพราะต้องพันขดลวดจนหนามากๆเนื่องจากประสิทธิภาพของแม่เหล็กในอดีตไม่ค่อยดีนัก ปัจจุบันมีแม่เหล็กแบบ Neodymium เข้ามาทำให้รอบการพันขดลวดลดลง และให้ประสิทธิภาพความเข้มของกระแสสัญญานได้ดีกว่าเดิม ดังนั้นจึงจับรายละเอียดของสัญญานในร่องเสียงได้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และหัวเข็มชนิดแบบ MM จะมีความแข็งแรงมากกว่า MC มาก ๆ ดังนั้นส่วนใหญ่จะนิยมนำไปทำหัวสำหรับสแครชของสายดีเจอีกด้วย ปัจจุบันถือเป็นหัวที่มีความนิยมมากที่สุด เพราะไม่ค่อยจุกจิก 


2. หัวเข็มแบบ MC (Moving Coil)


เป็นหัวเข็มที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถเก็บรายละเอียดเสียงได้ครบถ้วนมากที่สุด ตัวเข็มจะติดกันกับก้านปลายเข็มซึ่งตัวก้านที่ว่าจะอยู่ช่องว่างระหว่างแม่เหล็ก เมื่อเข็มวิ่งเซาะเข้าร่องบันทึกเสียงบนแผ่นไวนิล ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าทันที แต่กำลังขยายของ MC จะค่อนข้างต่ำมากเพราะตัวลวดที่พันจะถูกจำกัดจำนวนรอบให้น้อยที่สุด ทำให้กระแสที่ออกมาบางจนไม่สามารถใช้งานกับ Phono ทั่ว ๆ ไปได้ ต้องใช้คู่กันกับ Phono ที่รองรับ MC เท่านั้น แต่หัวชนิดนี้จะมีค่าต้านทานที่ต่ำกว่า MM เพราะจำนวนขดลวดที่น้อยกว่านั่นเอง และเป็นหัวที่ค่อนข้างบอบบาง ราคาแพง ถ้าหัวเข็มสึกหรือหักก็ต้องซื้อทั้งหัวใหม่มาเปลี่ยนเท่านั้น ไม่สามารถเลือกเปลี่ยนเฉพาะเข็มแบบ MM ได้ แต่จุดเด่นของ MC ก็คือ การที่ให้ Bandwidth ของเสียงที่กว้างกว่า MM และให้ความไหลลื่นที่ดีกว่า รวมทั้งถ่ายทอดละเอียดเสียงได้ดีกว่าอีกด้วย


ข้อเสียอีกอย่างคือหัวเข็มแบบ MC จะมีน้ำหนักหัวที่ค่อนข้างมาก ดังนั้นโทนอาร์มที่เป็นพลาสติกจะไม่สามารถใช้ได้ เพราะจะตั้งบาลานซ์ไม่ได้ ต้องใช้โทนอาร์มแบบหนัก ๆ หรือที่เรียกกันว่า High Mass มาพยุงจะทำให้สามารถตั้งบาลานซ์ได้ดีกว่าแบบ Low Mass มาก ๆ


3. หัวเข็มแบบ MI (Moving Iron)


เป็นหัวเข็มที่มีแค่ไม่กี่แบรนด์ที่ผลิตออกมา หลัก ๆ ก็จะมี B&O และ Grado ซึ่งการออกแบบของหัวชนิดนี้จะเน้นให้มีการเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนให้น้อยที่สุด ดังนั้นตัวแม่เหล็กกับขดลวดจะอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหวแม้แต่นิดเดียว แต่ให้แท่งเหล็กที่ปลายเข็มเป็นตัวเคลื่อนไหวแทน ข้อดีคือหัวเข็มชนิดนี้จะให้กระแสของสัญญานขาออกที่สูงกว่าหัวเข็มทุกชนิด และเข้าเกาะร่องเสียงได้ดีกว่า แถมยังไม่ต้องการแรงกดมาก ดังนั้นจึงตั้งบาลานซ์เข็มได้ง่ายกว่าหัวเข็มชนิดอื่น ๆ

Phono ส่วนประกอบสุดสำคัญในเครื่องเล่นแผ่นเสียง


ส่วนสำคัญอีกอย่างของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็คือ Phono ว่าแต่ Phono มันคืออะไร? Phono จริง ๆ ก็คือภาคขยายชนิดหนึ่ง แต่จะมีความไวต่อสัญญานเสียงที่เป็นระดับต่ำ หรือเสียงที่มาเบา ๆ นั่นเอง เพราะความจริงแล้ว การสร้างเสียงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเกิดจากการที่หัวเข็มลากไปตามร่องบนแผ่นเสียงและทำให้เกิดเสียงขึ้นมา ตัว Phono เองก็จะทำหน้าที่ขยายเสียงเหล่านั้นออกมาอีกที แตกต่างจากภาคขยายแบบ Amplifier ทั่วไป เพราะว่าตัว Amlifier นั้นจะไม่สามารถขยายเสียงจากหัวเข็มได้โดยตรง เพราะ Gain ในการขยายเสียงของ Amplifier จะเริ่มขยายที่ความดังที่สูงกว่า ดังนั้นถ้านำมาขยายเสียงของหัวเข็มเสียงที่ออกมาจะเบาและมี Noise เยอะมาก


ตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้น ในอดีตจะแยกออกเป็นรุ่นที่มี Pre Phono ในตัวและไม่มีในตัว แต่ปัจจุบัน Turntable ส่วนใหญ่จะมาพร้อม Pre Phono อยู่แล้ว และพวกรุ่นใหม่ ๆ โดยส่วนใหญ่จะสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ Phono ภายในตัวเอง หรือเลือกที่จะใช้ Phono จากภายนอก ซึ่งถ้าไม่ซีเรียสว่าจะนำไปต่อกับ Phono ที่มีอยู่หรือต้องการให้เสียงมาแบบ Hi End จริง ๆ เราก็เลือกใช้ Phono ในตัวของ Turntable ก็ได้ เพราะมันก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีมาก ๆ ไม่แพ้พวก Phono ภายนอกเลยทีเดียว


สรุปควรเลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบใดดีที่สุด


จริง ๆ การเลือกเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นในปัจจุบันต้องเรียกได้ว่าไม่ได้ยากเย็นแบบในอดีต โดยเฉพาะกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Automatic ที่ใช้งานง่ายจนแทบไม่ต่างกับเครื่องเล่น CD เลยทีเดียว ยกเว้นว่าจะอยากอัพเกรดตัวเองไปเล่นเครื่องเล่นที่ระดับสูงขึ้นอย่าง Semi-Auto หรือตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Manual ซึ่งอาจจะต้องศึกษาในหลาย ๆ ส่วน ทั้งวิธีการตั้งโทนอาร์ม การตั้ง Anti-Skating และต้องมีความใจเย็นในการวางหัวเข็ม เพราะทุกขั้นตอนต้องทำด้วยมือเราเอง ถึงแม้ว่าอาจจะฟังดูยุ่งยากแต่ในแง่คุณภาพที่ได้จะดีกว่าแบบ Automatic อย่างแน่นอน ถ้าอยากฟังง่าย ๆ สบาย ๆ ก็เลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Automatic ง่าย ๆ สบาย ๆ หรือถ้าอยากได้คุณภาพเสียงระดับสูง มีความเท่ห์ในการโชว์ปรับแต่งก่อนฟังเพลง และได้สนุกกับการหาอุปกรณ์มาอัพเกรดคุณภาพเสียงให้ดียิ่งขึ้น ก็ควรไปทางฝั่ง Semi-Auto และ Manual เพราะทั้งสองแบบจะตอบโจทย์ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

best-seller-ads
article-banner-1
article-banner-2