ข้อต่อควรรู้สำหรับมือใหม่ที่อยากเล่นเครื่องเสียงออดิโอ
29 พ.ค. 2560
ปัญหาที่นักฟังเพลงหรือเล่นเครื่องเสียงมือใหม่ส่วนใหญ่คือ ในหลายๆครั้งซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียงมาหลายชิ้นแต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะต่อกันยังไง ต้องซื้อสายหัวแบบไหนที่จะทำให้ใช้ด้วยกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อชุดเครื่องเสียงกับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆเช่น Smart TV ที่หลายๆท่านถามเข้ามามากว่าต้องซื้อเครื่องเสียงที่มีช่องแบบไหน ถึงจะสามารถต่อกับ TV ได้ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถเลือกซื้อได้ดีขึ้นนั่นก็คือ การรู้ช่องเชื่อมต่อต่างๆ ว่าแต่ละอันมีชื่อเรียกว่าอะไร และหน้าตาเป็นยังไง ก็จะช่วยให้เราคุยกับร้านค้า หรือพนักงานขายและเลือกสินค้าได้ดียิ่งขึ้น ทาง Mercular จึงรวบรวมข้อต่อที่เรามักจะได้ใช้บ่อยๆ มาให้ดูกันครับ
AUX หรือ 3.5mm
นับว่าเป็นช่องการเชื่อมต่อที่พบเห็นได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในสมาร์ทโฟน, เครื่องเล่นเพลง, โน๊ตบุ๊ค และเครื่องเสียงทั่วไป เรียกได้ว่าอุปกรณ์ไหนที่สามารถส่งเสียงได้ส่วนใหญ่มักจะมีช่องสาย AUX ให้ต่อได้นั่นเอง โดย AUX นั้นย่อมาจาก Auxilliary input ซึ่งถือว่าเป็นพอร์ตหรือช่องการเชื่อมต่อพื้นฐาน โดยหัวต่อที่ใช้กับช่องประเภทนี้ก็คือ แจ๊คหรือหัวเสียบที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 มิลลิเมตร หรือ แจ๊คหูฟังทั่วไปนั่นเอง ข้อดีของพอร์ตนี้คือใช้ง่าย ไม่ยุ่งยากเสียบสายเดียวเสียงออกเลย แต่ข้อเสียคือคุณภาพของเสียงจะสู้ข้อต่อแบบอื่นๆไม่ได้ในราคาที่เท่ากัน
RCA
เป็นพอร์ตการเชื่อมต่อพื้นฐานสำหรับเครื่องเสียงเช่นเดียวกับ RCA โดยจุดเด่นของการเชื่อมต่อแบบ RCA ก็คือจะใช้สาย 2 เส้น โดยเส้นนึงจะเป็นสีแดง และอีกเส้นจะเป็นสีขาว ที่สาย RCA ต้องต่อ 2 เส้นเพราะแต่ละเส้นจะส่งสัญญาณแยกกันระหว่างสัญญาณเสียงด้านซ้าย และสัญญาณเสียงด้านขวา ซึ่งการเชื่อมต่อก็ง่ายๆครับ เอาหัวสีแดงต่อกับช่องสีแดง หัวขาวต่อช่องขวา การเชื่อมต่อแบบนี้จะยุ่งยากกว่า AUX เล็กน้อยแต่จะให้เสียงทีดีกว่าครับ
6.3mm
เป็นหัวแจ๊คใหญ่ครับ มักจะหัวที่พวกนักดนตรี โปรดิวเซอร์ รวมไปถึง ดีเจมักจะชอบใช้กันครับ โดยตัวแจ๊คจะลักษณะเป็นแท่งๆคล้าย AUX แต่จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าพอสมควร โดยเส้นผ่านศูนย์กลางจะอยู่ที่ 6.3 mm ซึ่งสำหรับนักฟังเพลง หูฟัง Headphone บางตัว รวมไปถึง DAC/Amp, Amp ขนาดกลางถึงใหญ่ก็มีช่องต่อเป็น 6.3 mm แทน AUX ครับ ดังนั้นเวลาซื้ออาจจะต้องดูด้วยว่ามันต่อกันได้ไหม ถ้าไม่ได้อาจจะต้องซื้อ Adapter มาเปลี่ยนเป็น 3.5 mm อีกทีครับ
Micro USB
ป็นอีกหนึ่งการเชื่อมต่อที่เรารู้จักกันดี โดยเฉพาะคนที่ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน Android ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ USB C ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Huawei, LG, Xiaomi ก็ล้วนใช้การเชื่อมต่อแบบ Micro USB ในการชาร์จโทรศัพท์ทั้งนั้น การเชื่อมต่อแบบนี้ยังใช้กันอย่างแพร่หลายใน DAC/Amp พกพาอีกด้วย ทั้งต่อกับคอมพิวเตอร์ หรือมือถือผ่านสาย OTG โดยเวลาเสียบนั้นจะต้องพลิ้กให้ถูกด้านถึงจะเสียบได้ ทำให้เกิดความลำบากในการใช้งานในบางครั้ง
Lightning
ไม่ต้องพูดมากสำหรับคนที่ใช้ Apple หรือ iOS Lightning เป็นการเชื่อมต่อที่มีจุดเด่นคล้ายๆกับ USB C นั่นก็คือพลิ้กด้านไปก็เสียบได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็นข้อต่อเดียวที่ iPhone มีอยู่ โดยหลักจากที่ iPhone ตัดช่อง AUX ออกก็ทำให้หูฟังหลายๆค่าย มีหัวต่อเป็น Lighining ออกมาเพื่อใช้ต่อกับ iPhone รุ่นใหม่โดยเฉพาะเลยทีเดียว
Coaxial
ถือเป็นสายสัญญาณที่มีมานาน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตัวนำสัญญาณ หรือฉนวน ซึ่งถือว่าเป็นสายสัญญาณที่ให้คุณภาพเสียงดีเยี่ยมทีเดียว โดยจริงๆแล้ว สาย Coaxial จะสามารถเข้าหัวเพื่อเชื่อมต่อได้หลายแบบ แต่ที่นิยมในปัจจุบันนั้นจะเป็นแบบ RCA หัวเดียว และส่วนมากช่องต่อจะเป็นสีเหลือง หรือสีดำที่มีชื่อระบุไว้ครับ
USB-A
USB-C
เป็นการเชื่อมต่อแบบใหม่ โดยมีจุดเด่นที่ดีกว่า Micro USB ก็คือไม่ว่าจะพลิกด้านไหนก็สามารถเสียบได้ สามารถใช้งานได้สะดวกกว่า คล่องตัวกว่า จะเห็นว่าโทรศัพท์ Android รุ่นใหม่ๆ เริ่มเปลี่ยนมาใช้ USB C แทน Micro USB เพราะนอกจากจะเสียบง่ายกว่าแล้ว ยังทำให้ชาร์ตไฟได้เร็วกว่าด้วย
Optical
เป็นอีกหนึ่งข้อต่อที่เจอกันอย่างแพร่หลายในวงการเครื่องเสียง และ Smart TV ในรุ่นหลังๆ หัวต่อแบบ Optical ถือเป็นหัวต่อที่ค่อนข้างดีในเรื่องของการนำสัญญาณดิจิตอล โดยหัวประเภทนี้จะใช้กับสายที่เป็นใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ที่ส่งสัญญาณได้ดีกว่าข้อต่อทั่วไป และ DAC หรือ DAC-Amp ส่วนใหญ่ก็มักจะรองรับการเชื่อมต่อนี้ครับ โดยช่องการเชื่อมต่อ Optical นี้จุดเด่นเลยก็คือจะมีแผ่นพลาสติกปิดช่องอยู่ ตอนเสียบจะใช้หัว Optical ดันเข้าไปครับ
HDMI
เป็นการเชื่อมต่อที่เรียกว่าไม่พูดถึงไม่ได้เลย โดยเฉพาะคอหนังที่ชอบต่อจากโน๊ตบุ๊ค, กล่องดูหนังต่างๆ มายัง Smart TV จอใหญ่ๆเพื่อให้ดูหนังได้อรรถรสยิ่งขึ้น โดยเข้า HDMI นี้จุดเด่นจะอยู่ที่สามารถส่งได้ทั้งสัญญาณภาพและเสียงในเส้นเดียวกัน ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน และยังมีการพัฒนาความสามารถในการส่งข้อมูลให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย นับว่าเป็นอีกการเชื่อมต่อนึงที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
เป็นยังไงกันบ้างครับสำหรับการเชื่อมต่อในแบบต่างๆ หวังว่าจะช่วยนักฟังเพลงมือใหม่ให้เลือกซื้ออุปกรณ์ต่างๆเข้าชุด รวมไปถึงการซื้อสายสัญญาณได้ดียิ่งขึ้นนะครับ หากใครมีข้อต่อแบบไหนที่อยากแนะนำ หรืออยากแชร์มาเม้นกันได้เลยครับ