หมดกังวล! แนะนำ 5 วิธีการดูสเปคลำโพงด้วยตัวเองไม่ให้ถูกหลอกก่อนซื้อ

9 มี.ค. 2566

หมดกังวล! แนะนำ 5 วิธีการดูสเปคลำโพงด้วยตัวเองไม่ให้ถูกหลอกก่อนซื้อ

เรื่องปวดหัวของคนซื้อลำโพงหน้าใหม่หรือเพิ่งเคยซื้อลำโพงตัวแรกในชีวิตก็คือลำโพงตัวนั้นมีสเปก สัญลักษณ์ ข้อความทางเทคนิคกำกับอยู่มากมายเต็มไปหมด ดูแล้วก็ชวนงงว่ามันคืออะไรกันนะ? แล้วมีอันไหนบ้างที่สำคัญและจำเป็นต้องเข้าใจ บทความนี้ Mercular.com จะมาแนะนำวิธีการดูสเปคลำโพงเบื้องต้นก่อนซื้อ 5 วิธี ทำความเข้าใจความหมายต่าง ๆ เพื่อป้องกันการสับสน ได้ลำโพงถูกใจและคุ้มค่าเงินที่สุด มีอะไรบ้าง มาดูกัน

วิธีการดูสเปคลำโพง marshall bluetooth speaker

สำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่กำลังคิดจะซื้อลำโพงตัวใหม่ การรู้จักสเปกลำโพงเบื้องต้นก่อนซื้อเป็นเรื่องที่สำคัญ มันเปรียบเหมือนการได้รู้จักสเปกของคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือรถยนต์ ช่วยให้เรารู้รายละเอียดของลำโพงรุ่นนั้น ๆ ว่ามันมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร มีความสามารถอะไรบ้าง รวมไปถึงเหมาะกับการใช้งานแบบไหน ตอบสนองการฟังแบบใดได้ดีที่สุด ลำโพง 1 ตัวไม่ได้มีแค่ความดัง-เบา มันรายละเอียดที่มากกว่านั้น มาดูกันว่าวิธีการดูสเปคลำโพงเบื้องต้นก่อนซื้อต้องดูที่อะไรบ้าง

5 วิธีการดูสเปคลำโพงก่อนซื้อ

ดูประเภทของระบบการทำงาน


ลำโพงบนโลกใบนี้มีระบบการทำงานอยู่ 2 ระบบคือ Active กับ Passive 


ลำโพง Active คือลำโพงที่มีภาคขยายเสียงหรือแอมปลิฟายเออร์ในตัว สามารถขับเสียงออกมาได้ด้วยตัวเองเพียงเสียบปลั๊กแล้วกดเปิดเครื่อง เป็นลำโพงที่แพร่หลายและมีตัวเลือกเยอะที่สุด ลำโพงบลูทูธ ลำโพงพกพา ลำโพงไร้สาย ล้วนเป็นระบบ Active ทั้งหมด ข้อดีคือความสะดวกในการใช้งาน เซ็ตอัพง่าย มีลูกเล่นหรือฟีเจอร์เสริมอื่น ๆ พ่วงติดตัวมาช่วยเสริมประสิทธิภาพ 


ลำโพง Passive คือลำโพงที่ไม่มีภาคขยายเสียงหรือแอมปลิฟายเออร์ในตัว จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ เช่น พาวเวอร์แอมป์ ปรีแอมป์ มาต่อใช้งานร่วมกันเพื่อให้เกิดเสียงออกมา ข้อดีคือสามารถจับคู่อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ตามต้องการ ปรับแต่งแนวเสียงได้ตามใจชอบ แต่ก็ต้องมีความรู้และความชำนาญในการเล่นเครื่องเสียงระดับหนึ่งเพื่อความสมบูรณ์แบบของระบบ 


ทีนี้หากว่าเราคือมือใหม่ในยุทธจักรลำโพงแนะนำว่าควรเริ่มต้นที่ลำโพงระบบ Active ก่อนเพราะนอกจากความง่ายในการใช้งาานแล้วยังมีตัวเลือกที่หลากหลายครอบคลุมลำโพงหลาย ๆ ประเภท ตอบโจทย์การใช้งานได้ครบทุกความต้องการ ราคาก็มีหลากหลายช่วงให้เลือกได้ตามงบที่มี เมื่อเทียบกับลำโพงระบบ Passive แล้วเรียกว่าง่ายกว่ากันเยอะ จ่ายค่าตัวทีเดียวจบ ไม่ต้องสรรหาอุปกรณ์อื่นมาใช้งานร่วมกัน

วิธีการดูสเปคลำโพง JBL Link bluetooth speaker

รู้จักกำลังขับ


ผู้ผลิตลำโพงส่วนใหญ่มักจะระบุกำลังขับของลำโพงตัวนั้น ๆ มาในสเปค กำลังขับ (Power Handling) คือค่าที่บอกว่าลำโพงตัวนั้นสามารถรองรับกำลังไฟได้เท่าไหร่ แต่ตัวเลขกำลังขับนี่แหละที่สร้างความสับสนให้กับมือใหม่หลาย ๆ คนโดยเฉพาะลำโพงรุ่นที่ระบุกำลังขับในสเปคขับมา 2 รูปแบบ คือ RMS กับแบบ Peak Power กำลังขับทั้งสองคืออะไร มาดูกัน


กำลังขับ RMS คือค่ากำลังไฟฟ้าที่พาวเวอร์แอมป์สามาถจ่ายหรือลำโพงสามารถรับได้แบบต่อเนื่องติดต่อกันตามเวลาที่กำหนดโดยที่ตู้ลำโพงหรือดอกลำโพงทำงานได้อย่างไม่เกิดความเสียหาย


กำลังขับ Peak Power คือค่ากำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ตู้ลำโพงหรือดอกลำโพงรองรับได้ อาจจะเพียงไม่กี่วินาทีหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในการใช้งานจริง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุที่ใช้ทำดอกลำโพง โดยค่าตัวเลขกำลังขับแบบ Peak จะมีค่ามากกว่ากำลังขับแบบ RMS เสมอ


กำลังขับของลำโพงสัมพันธ์กับระดับความดังของเสียงที่ลำโพงขับออกมา ทีนี้หากเราดูสเปคลำโพงแล้วเจอข้อความเช่น 100W RMS หมายความว่าลำโพงรุ่นนี้มีกำลังขับแบบต่อเนื่องที่ 100 วัตต์ หากเจอข้อความ 250W Peak หรือ 250W เฉย ๆ ไม่มี RMS ต่อท้าย หมายความว่าลำโพงรุ่นนี้มีกำลังขับสูงสุด 250 วัตต์


อย่างไรก็ตาม ตัวเลขกำลังขับสูงสุดมักจะถูกนำมาเป็นคำโฆษณาหลัก หรือ Key Highlight ของลำโพงรุ่นนั้น ๆ ให้ดูมีสเปกดี มีกำลังขับสูง แต่แท้จริงแล้วตัวเลขนี้คือค่ากำลังขับสูงสุดที่ลำโพงรองรับได้ในเวลาเพียงชั่วขณะเท่านั้น เวลาใช้งานจริงลำโพงอาจจะทำงานในช่วงกำลังขับที่มีค่าต่ำกว่าที่ระบุ ดังนั้นตอนซื้อลำโพงต้องลองสังเกตุให้ดีว่าตัวเลขกำลังขับที่ระบุมานั้นเป็น RMS หรือ Peak

วิธีการดูสเปคลำโพง desktop speaker

รู้จักค่าความดัง Max SPL


ลำโพงแต่ละตัวให้ความดังมาก-น้อยแค่ไหนสามารถดูได้ที่ค่า Max SPL นี่คือค่าความดังสูงสุดที่ลำโพงตัวนั้น ๆ ขับเสียงออกมาได้ ย่อมาจากคำว่า Sound Pressure Level มีหน่วยวัดเป็นเดซิเบล (dB) ยิ่ง SPL มีค่ามากหมายถึงความดังเสียงที่มาก ค่า SPL มักจะถูกระบุในสเปคลำโพงให้ผู้ซื้อได้รู้ ซึ่งความดังเสียงที่ลำโพงขับออกมาจะมีผลกับเรื่องของขนาดพื้นที่การใช้งานลำโพงตัวนั้น ยิ่งดังมากก็ได้ยินชัดในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ถ้านำลำโพงไปใช้งานในห้องเล็ก ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกรุ่นที่มีค่า Max SPL สูงมากก็ได้ครับ 


วิธีการดูสเปคลำโพง JBL Flip

ดูค่าการตอบสนองความถี่


ลำโพงส่วนใหญ่มักจะระบุค่าการตอบสนองความถี่หรือ Frequency Response มาในสเปค นี่คือค่าที่บอกว่าลำโพงตัวนั้นตอบสนองต่อคลื่นความถี่เสียงในช่วงเท่าไรถึงเท่าไรบ้าง ใช้หน่วยวัดเป็น Hz โดย 1Hz เท่ากับการสั่น 1 ครั้งต่อ 1 วินาที เมื่อแปลงเป็นคลื่นความถี่เสียง เสียงความถี่ต่ำ (ค่า Hz ต่ำ) หมายถึงเสียงทุ้มหรือเสียงเบส ส่วนเสียงความถี่สูง (ค่า Hz สูง) หมายถึงเสียงแหลม ค่าการตอบสนองความถี่เป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพของลำโพงตัวนั้นว่าให้เสียงเบสได้ลึกแค่ไหน (ดูค่าความถี่ต่ำ) และขับเสียงแหลมได้ขึ้นไปสูงสุดได้แค่ไหน (ดูค่าความถี่สูง) 


ทีนี้เมื่อเรามาดูในสเปคลำโพง สมมติว่ามีข้อความ Frequency Response 20 - 20,000 Hz หมายความว่าลำโพงรุ่นนี้ตอบสนองช่วงความถี่ต่ำสุดได้ที่ 20Hz ไปจนถึงความถี่สูงสุดที่ 20,000Hz ลักษณะแบบนี้เรียกว่าขับเสียงได้กว้างและครอบคลุมย่านเบส กลาง แหลม ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ลำโพงแต่ละประเภทจะมีการตอบสนองความถี่แตกต่างกันไป เช่น ลำโพงซับวูฟเฟอร์จะตอบสนองเฉพาะแค่ในช่วงความถี่ต่ำเพราะหน้าที่ของมันคือให้เสียงเบสเพียงอย่างเดียวดังนั้นจึงไม่สามารถตอบสนองความถี่สูง ๆ ได้ ขณะเดียวกัน ลำโพงทวีตเตอร์มักจะตอบสนองความถี่สูงได้ดีเพราะหน้าที่ของมันคือให้เสียงแหลม แต่ก็จะไม่สามารถขับเสียงเบสที่มีความถี่ต่ำได้นั่นเอง

วิธีการดูสเปคลำโพง woofer close-up view

ดูช่องเชื่อมต่อต่าง ๆ


สิ่งสุดท้ายที่ต้องดูตอนซื้อลำโพงคือดูการเชื่อมต่อพวกช่องอินพุต-เอาต์พุตต่าง ๆ หากเป็นลำโพงไร้สายก็ดูพวกมาตรฐานการเชื่อมต่อเช่น เวอร์ชันของ Bluetooth คลื่นความถี่ Wi-Fi ที่รองรับ เป็นต้น 


ลำโพงที่เชื่อมต่อแบบมีสายจะแบ่งช่องเชื่อมต่อออกเป็นอินพุตและเอาต์พุตเอาไว้อย่างชัดเจน อินพุตหมายถึงสัญาณขาเข้าไปที่ตัวลำโพง เสียบเพื่อให้เสียงจากแหล่งกำเนิดไปออกที่ลำโพง ส่วนเอาต์พุตหมายถึงสัญญาณขาออกจากตัวลำโพงเพื่อไปยังอุปกรณ์อื่น การใช้งานต้องเสียบหัวเชื่อมต่อให้ถูกต้อง ซึ่งที่นิยมใช้ในปัจจุบันจะมีด้วยกันหลายแบบแยกเป็นฝั่ง Analog พวก RCA, AUX, Biding Post เป็นต้น กับฝั่ง Digital พวก USB, HDMI, Optical, Coaxial, Ethernet เป็นต้น  


ลำโพงไร้สาย ลำโพงบลูทูธ อาจจะมีช่องเชื่อมต่ออินพุต-เอาต์พุดหรือไม่มีก็ได้แล้วแต่การออกแบบของผู้ผลิต ซึ่งการเชื่อมต่อจะใช้การจับคู่ลำโพงกับอุปกรณ์ต้นทางเช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค แล้วส่งสัญญาณเสียงไร้สายไปเล่นที่ลำโพงนั่นเอง หากเป็นลำโพงบลูทูธจึดที่ต้องดูคือเวอร์ชันของบลูทูธ ปัจจุบันพัฒนามาถึงเวอร์ชัน 5.3 แล้ว ยิ่งเวอร์ชันใหม่ยิ่งดีเพราะจะส่งสัญญาณเสถียรและมีอาการดีเลย์ต่ำ

วิธีการดูสเปคลำโพง google bluetooth speaker

ทั้งหมดนี้คือ 5 วิธีการดูสเปคลำโพงเบื้องต้นด้วยตัวเองสำหรับเอาไว้ใช้เป็นไกด์ไลน์ตอนดูสเปคลำโพงก่อนซื้อเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและไม่โดนผู้ขายไร้จรรยาบรรณมาฉวยโอกาส ลำโพงก็เหมือนแกดเจ็ตหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่ผู้ซื้อต้องก็รู้จักสเปคและรายละเอียดของมันบ้างเพื่อที่จะได้เปรียบเทียบรุ่นเป็น และเลือกรุ่นที่เหมาะกับการใช้งานของตัวเองได้มากที่สุด


สุดท้ายนี้ Mercular.com ต้องขอตัวลาไปก่อน พบกับ Tips & Tricks ดี ๆ แบบนี้ได้เรื่อย ๆ ที่เว็บไซต์ของเรา สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

article-banner-1
article-banner-2