มาแล้ว Bluetooth 5.2 เชื่อมต่อไว ไร้ดีเลย์ ?
Audio101: วิวัฒนาการของ Bluetooth ในแต่ละ Version
Share
15 พ.ย. 2566

วิวัฒนาการของ Bluetooth ในแต่ละ Version
จุดเริ่มต้นของ Bluetooth มาจากแนวคิดของบริษัท Ericsson ต้องการจะพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้งานกับสัญญานวิทยุคลื่นสั้น “Short-Link” เพื่อนำมาใช้งานกับอุปกรณ์อย่าง Handfree Headset เพราะทาง Ericsson กำลังพัฒนาหูฟังแบบไร้สายเพื่อนำมาใช้กับมือถือตัวเอง และเพื่อให้ Bluetooth กลายเป็นหนึ่งในมาตรฐานของอุปกรณ์ไร้สาย ทาง Ericsson จึงได้จับมือกับพันธมิตรอย่าง Nokia , Toshiba , IBM และ Intel โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “Special Interest Group” ( และมี Microsoft , 3COM ,Lucent , Motorola เข้ามาร่วมในภายหลัง) ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้นำด้านอุปกรณ์อิเลคโทรนิคในส่วนต่างๆ โดยทั้งกลุ่มเชื่อว่า Bluetooth จะกลายเป็นมาตรฐานกลางในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายในอนาคต โดยมี Intel เป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์ดังกล่าว และถูกใช้ชื่อว่า “Bluetooth” ตามชื่อกษัตริย์ Harold Bluetooth ผู้ที่ทรงรวบรวมอาณาจักรเดนมาร์กให้เป็นหนึ่งเดียว โดยความหมายของ “Bluetooth” หมายถึง ตัวกลางที่จะรวบรวม Protocol ด้านการสื่อสารให้เป็นหนึ่งเดียวนั่นเอง โดยที่ตัว Logo ของ Bluetooth ได้เลือกเอาอักษรรูน 2 ตัวมาผนวกรวมกัน นั่นคือตัว ᚼ (Hagall) และ ᛒ (Bjarkan) และอุปกรณ์ตัวแรกที่ได้ใช้ ฺBluetooth ก็คือ Ericsson T36 นั่นเอง
Bluetooth ความจริงคือคลื่นวิทยุแบบ UHF ในย่านความถี่ ISM ที่มีความถี่อยู่ที่ 2.402-2.480GHz ซึ่งถือเป็นคลื่นความถี่อยู่ในย่านเดียวกับของคลื่น WiFi 2.4GHz แต่จะแตกต่างกันตรงที่ Bluetooth เป็นคลื่นความถี่พลังงานต่ำ โดยจะใช้พลังงานเพียง 0.1 วัตต์เท่านั้น
การทำงานของ Bluetooth นั้นปัจจุบันได้ถูกแบ่งออกเป็นคลาสต่างๆ ถึง 4 Class ซึ่งแต่ละคลาสจะแบ่งตามความสามารถในการรับส่งสัญญาน โดยจะแบ่งออกเป็น
- Class 1 : กำลังส่งอยู่ที่ระดับ 100 มิลลิวัตต์ มีระยะความสามารถในการับส่งที่ 100 เมตร
- Class 2 : กำลังส่งอยู่ที่ระดับ 2.5 มิลลิวัตต์ มีระยะความสามารถในการับส่งที่ 10 เมตร
- Class 3 : กำลังส่งอยู่ที่ระดับ 1 มิลลิวัตต์ มีระยะความสามารถในการับส่งที่ 1 เมตร
- Class 4 : กำลังส่งอยู่ที่ระดับ 0.5 มิลลิวัตต์ มีระยะความสามารถในการับส่งที่ 0.5 เมตร
จะเห็นได้ว่าระดับ Class ที่สูงไม่ได้แปลว่าความสามารถจะดีกว่า Class ที่ตัวเลขต่ำ ซึ่งตัวเลข Class จะมีระบบบนอุปกรณ์ Bluetooth Device ชนิดต่างๆ ดังนั้นการเลือกซื้ออุปกรณ์ Bluetooth จำเป็นจะต้องดู Class ประกอบด้วยเพื่อให้ตรงกับการใช้งานให้มากที่สุด

พัฒนาการของ Bluetooth จะมีการระบุเป็น Version ไว้ โดยแต่ละ Version ก็จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละ version จะมีความสามารถดังต่อไปนี้
Bluetooth 1.0 (Max Data Transfer Rate = 732.2 Kbps)
ในเวอร์ชัน 1.0 และ 1.0B นั้น ถือเป็นเวอร์ชันเริ่มแรกสุด ดังนั้นจึงมีปัญหาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยหลัก ๆ ก็คือเรื่องของ Compatible ของอุปกรณ์แต่ละตัว ทำให้เวลาใช้หูฟัง Headsetเ ต่างแบรนด์กัน เครื่องจะมองไม่เห็น และยังมีรองรับการทำงานในระดับ Mono ดังนั้นหูฟังแบบ Stereo ไม่สามารถใช้งานได้ และเวอร์ชัน 1.0 และ 1.0B ยังเลือกใช้การสัญญาณแบบ Bluetooth Hardware Device Address (BD_ADDR) ในการการเชื่อมต่อ ซึ่งทำให้การค้นหาอุปกรณ์ล่าช้า และไม่เสถียรเอามากๆ
Bluetooth 1.1 (Max Data Transfer Rate = 732.2 Kbps)
ในเวอร์ชันนี้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดหลายอย่างที่เกิดขึ้นในเวอร์ชัน 1.0B โดยเฉพาะ และเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง Channel แบบไม่ต้องเข้ารหัส พร้อมทั้งมีการเพิ่มตัวบอกระดับความแรงของสัญญาณที่ได้รับ (RSSI หรือ Received Signal Strength Indicator) อีกด้วย
Bluetooth 1.2 (Max Data Transfer Rate = 1 Mbps)
เป็น Version ทื่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับพลิกโฉมหน้าเลยทีเดียว ส่วนหลัก ๆ ในเวอร์ชันนี้ที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่
- การเพิ่มความสามารถในการค้นหาอุปกรณ์และการเชื่อมต่อให้เร็วยิ่งขึ้น
- เพิ่มความสามารถในการป้องกันการแทรกเข้ามาของคลื่นวิทยุ โดยใช้เทคนิคในการหลีกเลี่ยงคลื่นความถี่ที่มีการใช้งานพร้อมกันเป็นจำนวนมากในลำดับที่กระโดดไปไม่เรียงต่อกัน ซึ่งตัวฟีเจอร์ดังกล่าวถูกเรียกว่า Adaptive Frequency-Hopping Spread Spectrum (AFH)
- มีความเร็วในการรับส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 1Mbps
- เพิ่มฟีเจอร์ Extended Synchronous Connections (eSCO) ที่ทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้นและเป็น
- เพิ่มระบบปฏิบัติการ Host Controller Interface (HCI) แบบ 3 สาย (UART)
- รองรับ Backward Compatible ดังนั้นอุปกรณ์ที่เป็น bluetooth version ก่อนๆจะสามารถนำมาใช้ร่วมกับ Bluetooth version นี้ได้

Bluetooth 2.0 + EDR (Max Data Transfer Rate = 3 Mbps / Normal = 1 Mbps)
จุดหลัก ๆ ของการปลี่ยนแปลงในเวอร์ชันนี้คือการเข้ามาเสริมของ Enhanced Data Rate (EDR) ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วมากขึ้น โดยจะเพิ่ม Bitrate จากเดิมที่ 1 Mbps มาอยู่ที่ระดับสูงถึง 3Mbps เลยทีเดียว เรียกว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวข้ามจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการที่มี Bandwidth สูงมากขึ้นก็ช่วยแก้ปัญหาอาการ Lag ในเวลาใช้งานได้ดียิ่งขึ้น และเป็นครั้งแรกที่ Bluetooth รองรับหูฟังในแบบ Stereo
ในส่วนของ Bluetooth 2.0 ที่มีคำว่า “+ EDR” ต่อท้ายนั่นหมายความว่า EDR มีฟิวเจอร์เสริมขึ้นมาจาก version ปรกติ เพราะตัวเวอร์ชั่นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงจาก version ปรกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งถ้าหากอุปกรณ์ไหนไม่มีเทคโนโลยี EDR เข้ามาใช้ อุปกรณ์นั้นจะมีการระบุเอาไว้เลยว่า Bluetooth v2.0 without EDR
Bluetooth 2.1 + EDR (Max Data Transfer Rate = 3 Mbps / Normal = 1 Mbps)
Bluetooth 2.1 + EDR คือบลูทูธที่ได้รับการดัดแปลงโดย Bluetooth SIG ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ฟีเจอร์หลักที่ถูกเสริมเข้ามาคือ SSP ที่ย่อมาจาก Secure Simple Pairing (การจับคู่แบบปลอดภัย) ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์การจับคู่ที่ดีขึ้นระหว่างอุปกรณ์บลูทูธด้วยกันในขณะที่เพิ่มระดับความแข็งแรงในการรักษาความปลอดภัยของการเชื่อมต่อด้วย
ส่วนการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ก็เช่น การเพิ่ม EIR (Extended Inquiry Response) หรือการขยายการตอบสนองการร้องขอ ที่ทำให้อุปกรณ์ได้รับข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นเพิ่มขึ้นในกระบวนการร้องขอการเชื่อมต่อ ช่วยให้สามารถคัดกรองอุปกรณ์ก่อนการเชื่อมต่อได้ และเพิ่มระบบ Sniff Subrating ที่ช่วยลดการใช้พลังงานระหว่างการเปิดโหมดประหยัดพลังงานด้วย
Bluetooth 3.0 + HS (Max Data Transfer Rate = 24 Mbps / Normal = 1 Mbps)
จุดเด่นของเวอร์ชันนี้คือความสามารถ AMP (Alternative MAC / PHY) ทำให้สามารถส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงโดยอาศัยสัญญาน Wi-Fi เข้ามาเสริม โดยเฉพาะการที่มี “+ HS” ต่อท้าย นั่นแปลว่า จะรองรับการโอนถ่ายข้อมูลความเร็วสูงได้ แต่ถ้าอุปกรณ์ไหนไม่มี ก็ไม่ได้แปลว่าอุปกรณ์นั้นจะสามารถส่งข้อมูลได้ช้าลง เพียงแค่มันสามารถรับ - ส่งได้ด้วยความเร็วตามมาตรฐานของเวอร์ชัน 3.0 ก็เท่านั้น ซึ่งก็ถูกจำกัดอยู่ที่ 1Mbps เท่านั้น
Alternative MAC / PHY หมายถึง การที่เพิ่มความสามารถในการใช้ MAC และ PHYs เข้ามาช่วยในเรื่องของการส่งข้อมูล โดยตัวสัญญานหลักของ Bluetooth จะถูกใช้ในการค้นหาอุปกรณ์ใหม่, การเชื่อมต่อ, และการตั้งค่าโปรไฟล์ แต่เมื่อใดก็ตามที่จะต้องมีการส่งข้อมูลที่มีจำนวนสูง ก็จะตัดสลับไปใช้การส่งสัญญานผ่าน Wi-Fi เข้าเสริม เพื่อส่งข้อมูลให้เร็วยิ่งขึ้น

Bluetooth 4.0 (Max Data Transfer Rate = 24 Mbps / Normal = 1 Mbps)
ในเวอร์ชันนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเวอร์ชันก่อนอย่างมาก สิ่งที่ถูกรวมอยู่ในเวอร์ชันนี้ได้แก่ 3 Protocol หลักอันได้แก่ Classic Bluetooth , Bluetooth High Speed , และ Bluetooth Low Energy (BLE) โดย Bluetooth high speed หรือบลูทูธความเร็วสูงนั้น มีพื้นฐานมาจาก Wi-Fi นั่นเอง, ซึ่งตัว Classic Bluetooth นั้นจะเป็นส่วนของโปรโตคอลบลูทูธในรุ่นแรกๆ
Bluetooth Low Energy หรือบลูทูธพลังงานต่ำ ซึ่งก่อนหน้าในจะชื่อว่า “Wibree” โดยเป็นผลงานการค้นคว้าของบริษัท Nokia โดยที่ทาง Nokia นั้นตั้งใจจะให้ “Wibree” เข้ารวมเป็นมาตรฐานเดียวกันกับ Bluetooth โดยจะเป็นการเน้นไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่ต้องการการส่งสัญญานแบบพลังงานต่ำเช่น คีย์บอร์ดไร้สาย , เม้าส์ไร้สาย และ นาฬิกาแบบ Smart Watch เป็นต้น และในที่สุด “Wibree” ก็ได้ร่วมเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเปลี่ยนมาใช้ชื่อเป็น Bluetooth Low Energy หรือ BLE นั่นเอง แต่ในภายหลังก็ได้เปลี่ยนเป็น “Bluetooth Smart Ready” แทน
นอกจากนั้นยังเพิ่มในส่วนของการเข้ารหัสในระดับ 128-bit เข้ามาเพื่อป้องกันการ hack ข้อมูลผ่านตัว bluetooth อีกด้วย เรียกว่าเป็น Bluetooth ที่มีความปลอดภัยสูงอย่างมาก และเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่ม Codec ในการฟังเพลงคุณภาพสูงอย่าง aptX เข้ามาเสริมอีกด้วย
Bluetooth 4.1 (Max Data Transfer Rate = 25 Mbps / Normal = 1 Mbps)
หลักๆแล้ว เวอร์ชั่นนี้จะเป็นการอัปเดตเวอร์ชั่นก่อนในระดับนึง โดยที่มีการเพิ่มฟีเจอร์เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยที่จุดสำคัญคือการใช้งานร่วมกับ “LTE” ของสัญญาน 4G ตัวมือถือเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับส่งข้อมูลจำนวนในจำนวนที่สูงมากขึ้น ส่วนฟีเจอร์อื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาในเวอร์ชันนี้ก็เช่น
- รักษาระดับการเชื่อมต่อให้มีการแทรกแซงของสัญญานที่น้อยลง
- แลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย L2CAP
- ร่นเวลาในการค้นหาอุปกรณ์ใหม่ ๆ
Bluetooth 4.2 (Max Data Transfer Rate = 25 Mbps/ Normal = 1 Mbps)
ในเวอร์ชั่นนี้ถูกปรับปรุงเป็นพิเศษเพื่อรองรับการทำงานในแบบ Internet of Things (IoT) ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมอย่างมาก โดยสิ่งที่ได้รับการพัฒนาหลัก ๆ ก็คือ
- เพิ่มระยะการส่งสัญญานไกลสุดถึง 50 เมตรภายนอกอาคาร และระดับ 10 เมตรภายในอาคาร
- รักษาความเป็นส่วนตัวของชั้นข้อมูลด้วยข้อกำหนดในการคัดกรองเพิ่มเติม
- Internet Protocol Support Profile (IPSP) เวอร์ชัน 6 พร้อมใช้งานสำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน สำหรับการทำระบบ Smart Home

Bluetooth 5 (Max Data Transfer Rate = 50 Mbps / Normal = 2 Mbps)
Bluetooth 5 เป็น Bluetooth ที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อใช้งานกับระบบไร้สายแห่งอนาคต ซึ่งฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของเวอร์ชันนี้ จะโฟกัสไปที่เทคโนโลยีของ IoT เป็นหลัก โดยมี Sony เป็นเจ้าแรกที่ประกาศรองรับ Bluetooth 5 ด้วย Xperia XZ Premium เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ในระหว่างงาน Mobile World Congress 2017
หลังจากนั้นในเดือนเมษายน ทาง Samsung ก็ได้เปิดตัว Galaxy S8 ซึ่งเป็นมือถือรุ่นแรกของทาง Samsung ที่รองรับ Bluetooth 5 และในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน ทาง Apple ก็ได้ประกาศการรองรับ Bluetooth 5 ใน iPhone 8, 8 Plus, และ iPhone X ที่สำคัญ Apple ยังเปิดตัว “HomePod” ลำโพงอัจฉริยะที่เชื่อมต่อการสั่งการกับอุปกรณ์อื่น ๆ ภายในบ้าน ซึ่งก็รองรับ Bluetooth 5 ด้วยเช่นเดียวกัน
และการปรับปรุงที่สำคัญของ Bluetooth version นี้คือการเพิ่มความสามารถในการส่งสัญญานให้มีระยะที่ไกลมากขึ้น โดยที่ระยะการส่งสัญญาของ version 5.0 จะไปได้ไกลสุดถึง 200 เมตร ภายนอกอาคาร ส่วนภายในอาคารนั้นจะได้ไกลสุดถึง 50 เมตรเลยทีเดียว แต่ใช้พลังงานต่ำกว่า version ก่อนๆ และยังมี Bandwidth ในการรับส่งข้อมูลที่สูงกว่าอีกด้วย
Bluetooth 5.1 (Max Data Transfer Rate = 50 Mbps / Normal = 2 Mbps)
ในเวอร์ชั่นนี้ได้มีการปรับปรุงเพิ่มจาก version แรกขึ้นมาพอสมควร โดยส่วนหลักๆที่ถูกปรับปรุงประสิทธิภาพก็คือ
- Angle of Arrival (AoA) และ Angle of Departure (AoD) ที่เป็นเทคโนโลยีในการบอกที่ตั้งตำแหน่งของอุปกรณ์บลูทูธ และสามารถใช้ในการติดตามเวลาสูญหายได้
- แก้ปัญหาการเชื่อมต่อของ bluetooth ให้ดียิ่งขึ้นในกรณีอยู่ในจุดที่มีสัญญาณบลูทูธเป็นหนาแน่น
- การเก็บข้อมูลแคชของอุปกรณ์ BLE ต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า GATT Caching (GATT ย่อมาจาก Generic Attribute Profile)
- การอัปเดตเพิ่มประสิทธิภาพเล็กน้อยให้กับการรับส่งข้อมูล และการเชื่อมต่อที่ปลอดภัย
Bluetooth 5.2 (Max Data Transfer Rate = 50 Mbps / Normal = 2 Mbps)
ในส่วนของ Bluetooth 5.2 ได้มีการพัฒนาปรับปรุงจาก version ก่อนๆ ในเรื่องของความเสถียรและความสามารถในการรองรับการเชื่อมต่อหูฟังมากกว่า 1 จุด ซึ่งเป็นการออกแบบมาเพื่อรองรับหูฟังแบบ True Wireless โดยเฉพาะ โดยมีฟีเจอร์ใหม่ประกอบไปด้วย
- เพิ่ม LE Audio เข้ามา ซึ่งตัว LE Audio นั่นจะสามารถทำงานบน BLE ซึ่งเป็นตัวส่งสัญญานแบบพลังงานต่ำ โดยที่ตัว LE Auddio จะทำให้สามารถเชื่อมต่อหูฟังเข้ากับตัวอุปกรณ์มากกว่า 1 ชุดหรือทำการเชื่อมต่อหูฟังหลายๆชิ้นเข้ากับอุปกรณ์ส่งสัญญานจุดเดียว ทำให้สามารถฟังเพลงพร้อมๆกันโดยใช้หูฟังมากกว่า 1 ตัวได้
- เพิ่มประสิทธิภาพให้กับข้อมูลของอุปกรณ์ BLE ต่าง ๆ (Enhanced Attribute Protocol = EATT) ทำให้เชื่อมต่อได้เร็วขึ้น และลดการใช้พลังงานลง
- LE Power Control : ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความแรงของสัญญาณที่เชื่อมต่ออยู่ได้ และทำให้อุปกรณ์สามารถปรับระดับความแรงและคุณภาพที่ใช้ในการสื่อสารกันได้อย่างเหมาะสม
- LE Lsochronous Channels : ทำให้หูฟังในแต่ละข้างสามารถรับสัญญาณได้เองโดยตรง จากปรกติที่ต้องรอการสั่งสัญญานจากหูฟังอีกข้าง ทำให้ลดปัญหาการดีเลย์ของเสียงลงได้อย่างมาก

Bluetooth 5.3 (Max Data Transfer Rate = 50 Mbps / Normal = 2 Mbps)
ถือเป็น Version ล่าสุดที่เพิ่งประกาศเปิดตัวไปเมื่อปี 2021 โดยจะมีการพัฒนาปรับปรุงจาก version 5.2 ขึ้นมาเล็กน้อย โดยหลักๆของการเปลี่ยนแปลงก็จะมี
- การเพิ่มความเสถียรในการรับส่งสัญญาน และยังเพิ่มความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น
- ยกเลิกการรองรับ AMP (Alternative MAC / PHY) แล้วเปลี่ยนมาใช้มาตรฐาน bluetooth layer ของตัวเองแทน แต่ใน version 5.2 ยังคงรองรับเหมือนเดิม
- ลดอัตราหน่วงของสัญญาน ทำให้เสียงมีความใกล้เคียงกับการฟังผ่านสายมากขึ้น
Bluetooth 5.4 (Max Data Transfer Rate = 50 Mbps / Normal = 2 Mbps)
Bluetooth version ล่าสุดที่น่าจะเป็น version สุดท้ายก่อนจะก้าวไปเป็น bluetooth version 6.0 แน่นอนว่า version นี้ค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรแต่ส่วนใหญ่จะเป็นการ upgrade ความสามารถในการใช้งานให้ดีขึ้นมากกว่า โดยจุดที่เพิ่มจะมีดังนี้
- รองรับ Periodic advertising enhancement ซึ่งจะช่วยเผยตำแหน่งของอุปกรณ์เราให้อุปกรณ์ bluetooth ตัวอื่นได้เห็นหรือค้นหาเราเจอ ซึ่งเป้าหมายหลักๆก็เพื่อในไปใช้งานร่วมกับ ESL หรือ Electronic Shelf Label หรือชื่อไทยๆว่า ป้ายสินค้าแบบอิเลคโทรนิคส์นั่นเอง โดยตัว EFL จะส่งข้อมูลของสินค้าจากป้าย label ไปยังมือถือหรือ smart device ที่อยู่ในระยะ และจะบอกรายละเอียดทั้งหมดของตัวสินค้า ทั้งราคา น้ำหนัก วันหมดอายุ รวมไปถึงรูปตัวสินค้าโดยที่ลงไปต้องไปก้มดูรายละเอียดเอง และยังสามารถ update ราคาให้ตรงกับความเป็นจริง ตัดปัญหาราคาป้ายกับราคาตอนคิดเงินเป็นคนละราคากัน
- รองรับ Channel selection algorithm ซึ่งจะเป็นการช่วยเลือกช่องสัญญานที่มีความหนาแน่นน้อย และเสถียรที่สุดเพื่อให้สามารถใช้งาน bluetooth ได้เต็มประสิทธิภาพ ตัดปัญหาเรื่องจับสัญญาน bluetooth ไม่ได้ หรือสัญญานกระตุก
- เพิ่ม Link loss mitigation ช่วยให้สัญญาน bluetooth เสถียรและไม่หลุด แม้จะโดนคลื่นอื่นๆรบกวนก็ตาม โดยเฉพาะเวลาไปที่ที่มีสัญญาน Wifi หนาแน่น